วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ 13 การนมัสการ ก็เป็นพยานได้

พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์
ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง
ยอห์น 4:24

ในสัปดาห์นี้จะมีคนนับล้านร่วมการนมัสการประกาศ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ พวกเขาส่วนมากบอกไม่ได้ว่าจุดมุ่งหมายของการประชุมนั้นคืออะไร พวกเขารู้สึกว่ามันคลุมเคลือจนบอกเป็นคำพูดไม่ได้

ในบทที่ 14 และ 16 ผมจะอธิบายวิธีที่เราวางแผนจัดการประชุมที่ได้นำคนนับพัน ๆ มาถึงพระคริสต์แล้ว แต่ก่อนอื่น ผมเห็นว่าจำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลของการนมัสการประกาศของเราเสียก่อน ทั้งเหตุผลทางศาสนศาสตร์และเหตุผลในเชิงปฏิบัติ เพราะทุกสิ่งที่เราทำในการประชุมสุดสัปดาห์นั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นสิบสองประการ

ความเชื่อมั่นสิบสองประการเกี่ยวกับการนมัสการ

1. ผู้เชื่อเท่านั้นที่สามารถนมัสการพระเจ้าอย่างแท้จริง ทิศทางของการนมัสหารคือ จากผู้เชื่อขึ้นสู่พระเจ้า เรายกย่องพระนามของพระเจ้าโดยการแสดงความรักและมอบถวายชีวิตแด่พระองค์ ผู้ไม่เชื่อไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ คริสตจักรเรามีคำจำกัดความของการนมัสการว่า "การนมัสการคือการสำแดงความรักของเราต่อพระเจ้าเพราะพระลักษณะของพระองค์ สิ่งที่พระองค์ตรัส และสิ่งที่พระองค์ทำ"

เราเชื่อว่ามีหลายวิธีที่เราจะสำแดงความรักต่อพระเจ้า ซึ่งรวมถึงการอธิษฐานร้องเพลง ขอบพระคุณ ฟัง ให้ เป็นพยาน วางใจ เชื่อฟัง และพระเจ้าคือจุดสนใจและศูนย์กลางแห่งการนมัสการของเรา

2. คุณไม่จำเป็นต้องมีอาคารเพื่อจะนมัสการพระเจ้า กิจการ 17:24 กล่าวว่า "พระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกกับสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในนั้น พระองค์ทรงเป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก มิได้ทรงสถิตในปูชนียสถานซึ่งมือมนุษย์ได้กระทำไว้" คุณอาจคิดว่าคริสตจักรที่เน้นเรื่องนี้จะต้องเป็นคริสตจักรที่ตั้งมา 15 ปี มีผู้ร่วมประชุมกว่า 10,000 คน แต่ยังไม่มีอาคารแน่ ๆ ผมคิดว่าเราสื่อสารได้ชัดเจนทีเดียว

น่าเสียดายที่คริสตจักรมากมายถูกครอบงำด้วยการยึดติดกับอาคารใหญ่โตสวยงาม เราไม่ควรยอมให้อาคารหลังใด (หรือแม้แต่การไม่มีอาคาร) มาควบคุม จำกัดหรือหันเหผู้คนจากการนมัสการพระเจ้า การมีอาคารไม่ใช่สิ่งผิด เว้นแต่คุณจะนมัสการมันแทนที่จะนมัสการพระเจ้า พระเยซูตรัสว่า "ด้วยว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหน ๆ ในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น" (มัทธิว 18:20)

3. ไม่มีรูปแบบที่ถูกต้องตายตัวในการนมัสการ พระเยซูทรงบอกเงื่อนไขเพียงสองประการสำหรับการนมัสการที่ถูกต้อง "พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง" (ยอห์น 4:24) ผมไม่คิดว่าพระเจ้าจะไม่พอพระทัยในรูปแบบการนมัสการที่ต่างกัน ตราบใดที่คนนมัสการด้วย "จิตวิญญาณ" และ "ความจริง" ผมแน่ใจว่าพระเจ้าชอบความหลากหลาย จำไว้ว่านี่คือเหตุผลที่พระองค์สร้างเราให้แตกต่างกัน

คริสตจักรทุกแห่งมักจะคิดว่ารูปแบบที่ตนใช้ตรงตามพระคัมภีร์มากที่สุดความจริงก็คือ ไม่มีรูปแบบ

การนมัสการตามพระคัมภีร์ รูปแบบการนมัสการที่คุณพอใจนั้น ส่วนมากขึ้นอยู่กับเบื้องหลังทางวัฒนธรรมของคุณมากกว่าศาสนศาสตร์ และข้อถกเถียงเรื่องการนมัสการ ส่วนมากก็เป็นเรื่องทางสังคมศาสตร์ แต่ทำทีเป็นเรื่องศาสนศาสตร์ ทุกวันอาทิตย์ คนนับล้านทั่วโลกกำลังนมัสการเป็นพัน ๆ รูปแบบเพื่อถวายพระสิริแด่พระเยซู

ไม่ว่าคุณจะนมัสการรูปแบบไหน การนมัสการที่แท้จริงใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา ต้องใช้ทั้งอารมณ์และสติปัญญา ทั้งจิตใจและความคิด เราต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง

4. ผู้ไม่เชื่อสามารถมาชมผู้เชื่อนมัสการได้ ผู้ไม่เชื่อสามารถมาสังเกตดูความชื่นชมยินดีของเรา เขาสามารถเห็นว่าเรายกย่องให้เกียรติพระวจนะของพระเจ้า และเห็นว่าเราตอบสนองต่อพระจวนะของพระเจ้า และเห็นว่าเราตอบสนองต่อพระวจนะอย่างไร และเห็นว่าพระคัมภีร์ตอบปัญหาและคำถามในชีวิตอย่างไร และยังเป็นไปได้ด้วยที่เขาจะสัมผัสว่าพระเจ้ากำลังเคลื่อนไหวอย่างอัศจรรย์มนการนมัสการของเรา แม้เขาจะไม่สามารถอธิบายได้ก็ตาม

5. การนมัสการเป็นคำพยานอันทรงพลังสำหรับผู้ไม่เชื่อ ถ้าเขาสัมผัสถึงการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้าและเข้าใจคำเทศนา ในกิจการบทที่ 2 ในวันเพ็นเทคอสต์การนมัสการของเหล่าสาวกสำแดงถึงการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้าอย่างชัดเจนมาก จนเหตุการณ์นั้นดึงดูดความสนใจของผู้ไม่เชื่อทั้งเมือง เรารู้ว่าคนที่พากันมาดูนั้นต้องมีจำนวนมากแน่ ๆ เพราะมีคนได้รับความรอดถึง 3,000 คนในวันนั้น

ทำไม 3,000 คนนั้นจึงกลับใจ ก็เพราะพวกเขาสัมผัสถึงการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า และเข้าใจคำเทศนา ทั้งสองอย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของการนมัสการที่เป็นคำพยาน ประการแรก ในการนมัสการนั้น คนต้องสัมผัสได้ถึงการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า จำนวนคนที่มาเชื่อเพราะสัมผัสพระเจ้านั้น มีมากยิ่งกว่าจำนวนคนที่เชื่อเพราะการใช้เหตุผลโต้แย้งทุกวิธีรวมกัน มีน้อยคนจริง ๆ ที่มาเชื่อเพราะเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ละลายหัวใจและทำลายกำแพงทางความคิดคือ การที่เขาได้สัมผัสพระเจ้าด้วยตนเอง

ในขณะเดียวกัน การนมัสการและคำเทศนาต้องเข้าใจได้ ในวันเพ็นเทคอสต์พระวิญญาณบริสุทธิ์แปลถ้อยคำเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้อย่างอัศจรรย์ ฝูงชนที่ยังไม่เชื่อพากันกล่าวว่า "เราทั้งหลายต่างก็ได้ยินคนเหล่านี้กล่าวถึงมหกิจของพระเจ้าตามภาษาของเราเอง" (กิจการ 2:11) เพราะเขาเข้าใจได้พวกเขาจึงกลับใจ แม้เขาจะสัมผัสพระเจ้าได้อย่างชัดเจนในการนมัสการ แต่เขาก็จะไม่รู้ว่าจะทำอย่าางไร ถ้าเขาไม่สามารถเข้าใจได้

มีความผูกพันลึกซึ้งระหว่างการนมัสการกับการประกาศ เป้าหมายของการประกาศ คือ ผลิตผู้นมัสการ "พระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้นนมัสการพระองค์" (ยอห์น 4:23) ดังนั้นการประกาศคือ การเรียกหาผู้ที่จะนมัสการพระเจ้า

ขณะเดียวกัน การนมัสการทำให้เกิด แรงจูงใจ ที่จะประกาศ มันทำให้เรามีความปรารถนาที่จะเล่าเรื่องพระคริสต์ให้ผู้อื่นฟัง ประสบการณ์การนมัสการที่ยิ่งใหญ่ของอิสยาห์ส่งผลให้ท่านกล่าวว่า "ข้าพระองค์นี่พระเจ้าข้า ขอทรงใช้ข้าพระองค์ไปเถิด" (อิสยาห์ 6:1-8) การนมัสการที่แท้จริงทำให้เราออกไปเป็นพยาน

ในการนมัสการที่แท้จริง คนจะสัมผัสถึงการสถิตอยู่ของพระเจ้า เขาจะเข้าใจข้อเสนอแห่งการอภัยโทษ ในการนมัสการที่แท้จริงพระประสงค์ของพระเจ้าจะเปิดเผยออก และฤทธานุภาพของพระองค์จะปรากฏ ผมสังเกตว่า เมื่อผู้ไม่เชื่อมองเห็นผู้เชื่อที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างจริงใจและสมเหตุสมผล พวกเขาก็เกิดความปรารถนาที่จะรู้จักพระเจ้าด้วย

6. พระเจ้าคาดหวังให้เราไวต่อความรู้สึกของผู้ไม่เชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวความลำบากใจ และความต้องการของพวกเขา เมื่อพวกเขาร่วมนมัสการกับเรา นี่เป็นหลักการที่เปาโลได้สอนใน 1 โครินธ์ บทที่ 14 ในข้อ 23 เปาโลสั่งว่าการพูดภาษาแปลก ๆ ควรถูกจำกัดในการประชุมสาธารณะ ท่านมีเหตุผลอะไรหรือ ก็เพราะการพูดภาษาแปลก ๆ นั้นดูโง่เขลาในสายตาคนไม่เชื่อ เปาโลไม่ได้บอกว่าการพูดภาษาแปลก ๆ เป็นเรื่องโง่ แต่บอกว่าคนไม่เชื่อ มองว่า เป็นเรื่องโง่ "เหตุฉะนั้นถ้าคริสตจักรมีการประชุมกันแล้วคนทั้งปวงต่างพูดภาษาแปลก ๆ และมีคนที่รู้ไม่ถึง หรือคนที่ไม่เชื่อเข้ามา เขาจะมิเห็นว่าท่านทั้งหลายคลั่งไปแล้วหรือ" (1 โครินธ์ 14:23)

ผมเชื่อว่าคำแนะนำนี้มีหลักการที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ประเด็นของเปาโลคือ เราต้องเต็มใจที่จะปรับการนมัสการของเราเมื่อผู้ไม่เชื่ออยู่ท่ามกลางเรา เราต้องไวต่อความรู้สึกของผู้ไม่เชื่อเมื่อเขารู้สึกลำบากใจ การนมัสการโดยใส่ใจความรู้สึกของผู้สนใจคือคำสั่งตามพระคัมภีร์

แม้เปาโลจะไม่เคยใช้คำว่า "ไวต่อความรู้สึกของผู้สนใจ" แต่แน่นอนว่าท่านคือ ผู้บุกเบิกความคิดนี้ ท่านใส่ใจมากกับการไม่ทำให้คนไม่เชื่อสะดุด "อย่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พวกยิว หรือพวกกรีก หรือคริสตจักรของพระเจ้าหลงผิดไป" (1 โครินธ์ 10:32) ท่านยังบอกด้วยว่า "จงปฏิบัติต่อคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา โดยฉวยโอกาส" (โคโลสี 4:5)

เวลามีแขกมารับประทานอาหารเย็นกับครอบครัวของคุณ คุณปฏิบัติตัวต่างจากปกติหรือเปล่า แน่นอน คุณสนใจความต้องการของแขก และบริการเขาเป็นอันดับแรก อาหารอาจเหมือนเดิม แต่คุณอาจใช้จานกระเบื้องคนละชุดกับที่กินประจำ หรือตกแต่งอาหารให้น่าดูกว่าเดิม การสนทนาบนโต๊ะก็มีมารยาทมากขึ้น นี่หมายความคุณหน้าซื่อใจคตหรือ ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ คุณทำอย่างนั้นเพราะคุณใส่ใจความรู้สึกคนอื่น และเป็นการแสดงความเคารพต่อเขา เช่นเดียวกัน อาหารฝ่ายจิตวิญญาณยังคงเหมือนเดิมในการนมัสการที่ใส่ใจกับความรู้สึกของผู้สนใจกับความรู้สึกของผู้สนใจ แต่การนำเสนอนั้นประณีตกว่า เพราะคำนึงถึงแขกที่มาเยี่ยม

7. การนมัสการที่ใส่ใจกับความรู้สึกของผู้สนใจ ไม่จำเป็นต้องตื้นเขิน ไม่จำเป็นต้องลดทอนเนื้อหา ขอเพียงให้มันเข้าใจได้ การทำให้การนมัสการ "สบาย" สำหรับคนไม่เชื่อ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเปลี่ยนหลักศาสนศาสตร์ คุณแค่เปลี่ยนบรรยากาศการนมัสการเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศนั้นทำได้หลายวิธี เช่นเลือกวิธีประกาศข่าวคริสตจักร

เนื้อหาคำเทศนาไม่จำเป็นต้องฟังแล้วสบายใจเสมอไป แท้จริงบางครั้งความจริงของพระเจ้าก็ทำให้คนไม่สบายใจ กระนั้น เราก็ต้องสอนความจริงของพระเจ้าทั้งหมด การใส่ใจความรู้สึกของผู้ไม่เชื่อไม่ได้จำกัดสิ่งที่คุณพูด แต่มันมีผลต่อวิธีที่คุณพูด

ตามที่ผมกล่าวในบทที่แล้ว คนไม่เชื่อไม่ได้ขอร้องให้เราลดทอนพระวจนะเมื่อเขามาคริสตจักรเขาก็คาดหวังจะได้ยินพระวจนะอยู่แล้ว สิ่งที่เขาอยากได้ยินก็คือ พระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเขา ในลักษณะที่เขาเข้าใจได้ และในน้ำเสียงที่เคารพและห่วงใยพวกเขา พวกเขาแสวงหาทางออก ไม่ใช่การจับผิด

ผู้ไม่เชื่อก็ค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาเดียวกันกับผู้เชื่อ พวกเขาอยากรู้ว่า ฉันเป็นใคร ฉันมาจากไหน จุดมุ่งหมายในชีวิตของฉันคืออะไร ฉันจะเข้ากับคนอื่นได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำถามตื้น ๆ เลย

8. ความต้องการของผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อมักจะคาบเกี่ยวกัน บางเรื่องต่างกัน แต่หลายเรื่องเหมือนกัน การนมัสการที่ใส่ใจความรู้สึกของผู้ไม่เชื่อจึงเน้นที่ความต้องการของทั้งผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ทั้งผู้เชื่อและผู้ไม่เชื่อต่างต้องการรู้ว่าพระเจ้ามีพระลักษณะเช่นไร ทั้งสองต้องการที่จะเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิต ทั้งสองต้องการรู้ว่าทำไมต้องยกโทษคนอื่น และจะยกโทษได้อย่างไร ทั้งสองต้องการความช่วยเหลือเพื่อเสริมสร้างชีวิตสมรสและครอบครัวให้มั่นคง ทั้งสองต้องการรู้วิธีจัดการกับความเจ็บปวด ความเศร้าโศก และความทุกข์ยาก ทั้งสองต้องการรู้ว่าทำไมลัทธิวัตถุนิยมจึงเป็นอันตรายยิ่งนัก

9. วิธีที่ดีที่สุดคือให้การนมัสการของคุณมุ่งไปที่จุดมุ่งหมายเดียว คริสตจักรส่วนมากพยายามทั้งประกาศและเลี้ยงดูผู้เชื่อในการนมัสการเดียวกัน และเมื่อคุณส่งสัญญาณผสมออกไป คุณก็จะได้ผลลัพธ์แบบผสมด้วย การพยายามยิงปืนนัดเดียวให้ได้นกสองตัวก็จะลงเอยด้วยความสับสน

ให้คุณวางแผนการนมัสการรอบหนึ่งสำหรับผู้เชื่อ อีกรอบสำหรับประกาศกับคนที่สมาชิกของคุณมา ที่แซดเดิลแบ็ค การนมัสการสำหรับผู้เชื่ออยู่ค่ำวันพุธ ส่วนการนมัสการสำหรับผู้สนใจอยู่ค่ำวันเสาร์และเช้าวันอาทิตย์ โดยวิธีนี้คุณจะสามารถใช้รูปแบบการเทศนา ดนตรี คำอธิษฐาน และรายอะเอียดอื่น ๆ ที่แตกต่างสำหรับผู้ฟังที่ต่างกัน

เมื่อผมเริ่มคริสตจักรนี้ ผมถามคนไม่เชื่อว่าเวลาที่พวกเขาสะดวกที่สุดคือเวลาไหน พวกเขาตอบว่า วันอาทิตย์เช้า เมื่อผมถามสมาชิกว่าเวลาไหนสะดวกที่สุดที่เขาจะพาเพื่อนมาคริสตจักร เขาก็ตอบว่าวันอาทิตย์เช้าอีก ดังนั้น เราจึงจัดวันอาทิตย์ไว้สำหรับการประกาศ และใช้ค่ำวันพุธสำหรับเลี้ยงดูผู้เชื่อ

10. การนมัสการสำหรับผู้สนใจมีไว้เพื่อเสริมการประกาศส่วนตัว ไม่ใช่แทนการประกาศส่วนตัว คนส่วนมากจะตัดสินใจเชื่อพระเยซูได้ง่ายขึ้นเมื่อมีเหตุผลสนับสนุนหลาย ๆ ด้าน การนมัสการสำหรับผู้สนใจเปิดโอกาสให้เขาพบคำพยานในลักษณะเป็นกลุ่ม เพื่อจะย้ำและเสริมคำพยานส่วนตัวของสมาชิกที่พามา เมื่อคนไม่เชื่อมากับเพื่อนและได้เห็นคนมากมาย เขาย่อมคิดว่า มีคนที่เชื่อเรื่องนี้เยอะแฮะ คงต้องมีอะไรดีแน่

คำพยานของกลุ่มคนมีพลังจูงใจอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเหตุนี้ ยิ่งการนมัสการสำหรับผู้สนใจเติบโตมากเท่าใด มันก็จะยิ่งเป็นเครื่องมือการประกาศที่ยิ่งใหญ่มากเท่านั้น

11. ไม่มีแนวทางมาตราฐานในการวางแผนการนมัสการเพื่อผู้สนใจ นั่นเป็นเพราะผู้ไม่เชื่อแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนก็ต้องการรายการที่เขาสามารถมีส่วนร่วมบางคนต้องการนั่งฟังเฉย ๆ บางคนชอบรายการเงียบ ๆ เพื่อใคร่ครวญ บางคนชอบแบบคึกคัก รูปแบบที่เราใช้ที่นี่ อาจไม่เหมาะกับละแวกคริสตจักรของคุณ

แต่ก็มีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สามประการในการนมัสการสำหรับผู้สนใจ (1) ต้องปฏิบัติต่อผู้ไม่เชื่อด้วยความรักและเคารพ (2) โยงการนมัสการเข้ากับความต้องการของเขา (3) แบ่งปันคำเทศนาในลักษณะที่เขาเข้าใจและปฏิบัติได้ ส่วนองค์ประกอบอื่น ๆ นั้นสำคัญรองลงไป และคริสตจักรไม่ควรยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น

หลายครั้งผมพบว่าคนให้ความสำคัญกับปัจจัยรอง ๆ เช่น จะเอาธรรมาสน์ไว้ดีไหม จะมีละครทุกสัปดาห์ดีไหม บางคนทำราวกับว่าสิ่งเหล่านั้นต้องการชมการแสดงชั้นหนึ่ง เขาอยู่กับเปิดโทรทัศน์ดูไม่ดีกว่าหรือ เพราะโทรทัศน์ใช้เงินเป็นล้านทำรายการที่ยาวเพียงครึ่งชั่วโมง

แท้จริง สิ่งที่ดึงดูดคนไม่เชื่อคือชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง - ชีวิตคนมากมายที่เปลี่ยนแปลง ผู้คนจะไปยังที่ที่ชีวิตคนเปลี่ยนแปลง ที่ที่ความเจ็บปวดได้รับการรักษาและที่ที่คนกลับมีความหวังอีกครั้ง

ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค คุณแสดงเห็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกหนทุกแห่ง เราจัดให้มีคำพยานของคนที่พระคริสต์เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาอย่างอัศจรรย์ โดยฤทธิ์อำนาจและความรักของพระองค์ "ลูกค้าที่พึงพอใจ" จำนวนมากนี้เองที่ทำให้ผู้ที่สงสัยไม่อาจข้อโต้แย้ง

คริสตจักรเราพิสูจน์เรื่องนี้ โดยการนำพันมาหาพระคริสต์ในขณะที่สถานการณ์ดูเหมือนไม่น่าจะทำได้ ลองนึกดูเถิดว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าคริสตจักรต้องย้ายที่อยู่เรื่อย หรือคนไม่เชื่อต้องนั่งในเต็นท์ที่หนาวยะเยือกในฤดูหนาว เฉอะแฉะในฤดูใบไม้ผลิ ร้อนจัดในฤดูร้อน และลมพัดกระหน่ำในฤดูใบร่วง บางครั้งคนเดินจากที่จอดรถไกลถึงสี่กิโลเมตร และมายืนกางร่มฟังในวันฝนตก แต่เมื่อชีวิตคนได้รับการเปลี่ยนแปลง ปัญหาที่เคยดูใหญ่โต มันก็จะกลายเป็นเพียงแค่แมลงรบกวนในการนมัสการของเรา เราเชิญให้คนกรอกใบลงทะเบียน และร้องเพลงนมัสการ เราเดินถุงถวาย แจกโครงร่างคำเทศนาที่พิมพ์ข้อพระคัมภีร์ไว้ด้วย และมีช่วงเปิดให้เขาตัดสินใจมอบถวายชีวิต ผมเคยได้ยินคนพูดว่า ถ้าทำสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถนำคนไม่เชื่อมาได้ แต่คนมากกว่า 7,000 คนก็ได้ลงชื่อถวายชีวิตให้พระเยซู และอีกหลายพันก็กลับมาอีก มันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำสิ่งเหล่านี้ อย่างไร

รูปแบบรายการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นเพียงเครื่องมือ คุณไม่จำเป็นต้องมีละคร สื่อทันสมัย หรืออาคารสวยหรู และที่จอดรถกว้างขวาง เพื่อจะนำคนไม่เชื่อเข้ามา สิ่งเหล่านั้นเพียงแค่ช่วยให้มันง่ายขึ้น ขอให้ตระหนักว่าคำแนะนำที่ผมจะให้ในสองบทถัดไปนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น เป็นแนวทางที่ใช้ได้ผลที่แซดเดิลแบ็ค อย่านำมันไปใช้เหมือนเป็นบัญญัติสิบประการ แม้แต่ผมเองก็จะไม่ทำเหมือนอย่างนั้นทุกอย่าง ถ้าผมจะเริ่มคริสตจักรในส่วนอื่นของประเทศผม คุณต้องค้นหาเองว่าคุณควรจะทำอย่างไรกับชุมชน หรือเมืองของคุณ

12. การประชุมสำหรับผู้สนใจต้องอาศัยผู้เชื่อที่เป็นผู้ใหญ่และไม่เห็นแก่ตัวใน 1 โครินธ์ 14:19-20 เปาโลกล่าวว่า ถ้าเรานมัสการและคิดถึงแต่ความต้องการของตนเอง เราก็ทำตัวอย่างเด็ก สมาชิกและคิดถึงแต่ความต้องการของตนเอง เราก็ทำตัวอย่างเด็ก สมาชิกจะสำแดงถึงความเป็นผู้ใหญ่เมื่อเขาเล็งเห็นความต้องการ ความกลัว และความลำบากใจของคนไม่เชื่อ และเต็มใจที่จะตอบสนองความต้องการของเขามากกว่าความต้องการของตนเอง

การจัดการนมัสการสำหรับผู้สนใจหมายถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางจากความต้องการของสมาชิก มาสู่ความต้องการของผู้สนใจ จำเป็นต้องอาศัยสมาชิกที่เต็มใจจะสร้างบรรยากาศที่ผู้ไม่เชื่อรู้สึกปลอดภัย โดยผู้เชื่อยอมสละความชอบ ประเพณี ความสะดวกของตน เขาต้องสมัครใจละทิ้งความสบายของตนเอง

พระเยซูทรงตรัสว่า "บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่ท่านมาเพื่อปรนนิบัติเขา" (มัทธิว 20:28) ทัศนคติของเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น ตราบใดที่สมาชิกของคุณยังไม่ซึมซับเอาทัศนคติเช่นนี้ไว้ในจิตใจ คริสตจักรของคุณก็ยังไม่พร้อมจะเริ่มการนมัสการเพื่อผู้สนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น