วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

บทที่ 18 พัฒนาสมาชิกให้เป็นผู้ใหญ่

…เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น
…จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่
เอเฟซัส 4:12-13

เราอธิษฐานขอสิ่งนี้ด้วย คือขอให้ท่านทั้งหลาย
บรรลุถึงความบริบูรณ์ในพระคริสต์
2 โครินธ์ 13:9

พระคัมภีร์ ใหม่กล่าวอย่าางชัดเจนว่า พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อทุกคนเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายจิตวิญญาณ พระองค์ต้องการให้เราเติบโต เปาโลกล่าวใน เอเฟซัส 4:14-15 ว่า "เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป ถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง… แต่ให้เรายึดความจริงด้วยใจรัก เพื่อจะจำเริญขึ้นทุกอย่างสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะคือ พระคริสต์"

เป้าหมายสูงสุดของการเติบโตฝ่ายวิญญาณ คือ การเป็นเหมือนพระคริสต์ พระเจ้ามีแผนการสำหรับเราตั้งแต่ปฐมกาลเพื่อเราจะเป็นเหมือนพระบุตรของพระองค์ "เพราะว่าผู้ใดที่พระองค์ได้ทรงทราบอยู่แล้ว (รู้จักล่วงหน้า) ผู้นั้นพระองค์ได้ทรงตั้งไว้ให้เป็นตามลักษณะพระฉายแห่งพระบุตรของพระองค์ เพื่อพระบุตรนั้นจะได้เป็นบุตรหัวปีท่ามกลางพวกพี่น้องเป็นมาก" (รม. 8:29) พระเจ้าต้องการให้ผู้เชื่อทุกคนมีลักษณะเหมือนพระคริสต์

ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือ การเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ได้อย่างไร

ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ

ก่อนที่จะแบ่งบันยุทธวิธีที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็คใช้ในการพัฒนาผู้เชื่อให้เป็นผู้ใหญ่ ผมขอขจัดความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับการเติบโตและความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณเสียก่อน เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ยุทธวิธีต้องวางอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง

ความเข้าใจผิด ๆ ประการที่ 1 :
การเติบโตฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อคุณบังเกิดใหม่

คริสตจักรมากมายๆม่มีแผนการสำหรับติดตามผลผู้เชื่อใหม่ และไม่มียุทธวิธีที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาสมาชิกให้เป็นผู้ใหญ่ พวกเขาปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความบังเอิญ และเหมาเอาว่าคริสเตียนจะเติบโตโดยอัตโนมัติเมื่อเขามาร่วมนมัสการ พวกเขาคิดว่าทั้งหมดที่ต้องทำคือ กระตุ้นให้คนมาร่วมประชุม แล้วก็เป็นอันเสร็จงาน

แน่นอนนี่ไม่เป็นความจริงเลย การเติบโตฝ่ายวิญญาณไม่ได้จู่ ๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อคุณได้รับความรอด แม้ว่าคุณจะมาร่วมประชุมสม่ำเสมอก็ตาม คริสตจักรมากมายเต็มไปด้วยคนที่มานมัสการตลอดชีวิต แต่ยังคงเป็นทารกฝ่ายวิญญาณ สมาชิกที่มาเป็นประจำกับสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่นั้นไม่เหมือนกัน ในแผนผัง "กระบวนการพัฒนาชีวิต" ของเรา ภารกิจในการเตรียมคนให้มีอุปนิสัยที่จำเป็นสำหรับการเติบโตฝ่ายวิญญาณคือ "การพาคนไปยังฐานสอง" (ใช้ภาพกีฬาเบสบอล ซึ่งผู้เล่นต้องตีลูกและวิ่งวนครบสี่ฐานจึงจะได้คะแนน)

การเติบโตฝ่ายวิญญาณไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติตามกาลเวลา ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูกล่าวอย่างน่าเศร้าว่า "ถึงแม้ว่าขณะนี้ท่านทั้งหลายควรจะเป็นครูได้แล้ว แต่ท่านก็ต้องให้คนอื่นสอนท่านอีกในเรื่องหลักธรรมเบื้องต้นแห่งพระวจนะของพระเจ้า ท่านทั้งหลายต้องกินน้ำนมไม่ใช่อาหารแข็ง" (ฮบ. 5:12) มีคริสเตียนมากมายแก่ตัวลงโดยไม่ได้เติบโตขึ้น

ความจริงคือ การเติบโตฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องของความตั้งใจ การเติบโตต้องอาศัยความตั้งใจแน่วแน่และความพยายาม บุคคลนั้นต้องอยากเติบโต ตัดสินใจที่จะโต และใช้ความพยายามที่จะโต การเป็นสาวกเริ่มโดยการตัดสินใจ มันไม่จำเป็นต้องเป็นการตัดสินใจที่ซับซ้อน แต่จำเป็นต้องจริงใจ แน่นอนพวกสาวกไม่เข้าใจความหมายทั้งหมดของการตัดสินใจติดตามพระคริสต์ พวกเขาเพียงแค่แสดงออกถึงความปรารถณาที่จะติดตามพระองค์ พระเยซูก็ทรงยอมรับการตัดสินใจที่เรียบง่ายแต่จริงใจนี้ และทรงสร้างพวกเขาบนรากฐานนี้เอง

ฟีลิปปี 2:12-13 กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงอุตสาห์ประพฤติเพื่อให้ได้ความรอดด้วยความเกรงกลัวและตัวสั่นฉันนั้น… เพราะว่าพระเจ้าเป็นผู้ทรงกระทำกิจอยู่ภายในท่านให้ท่านมีใจปรารถณาทั้งให้ประพฤติตามชอบพระทัยของพระองค์" เปาโลกล่าวประโยคนี้สำหรับคนที่ได้รับความรอดแล้ว และสิ่งสำคัญที่ท่านบอกก็คือ พระเจ้ามีส่วนในการเติบโตของเรา และเราก็มีส่วนเช่นกัน

การเป็นเหมือนพระคริสต์เป็นผลจากการตัดสินใจอุทิศชีวิตของเรา เราอุทิศชีวิตเพื่ออะไร การอุทิศชีวิตเพื่อพระบัญญัติข้อใหญ่และพระมหาบัญชาจะทำให้เกิดคริสตจักรที่ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกัน การอุทิศชีวิตจะทำให้คนกลายเป็นคริสเตียนที่ยิ่งใหญ่ ถ้าไม่มีการตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเติบโต การเติบโตที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามกระแสเท่านั้น แต่การเติบโตฝ่ายวิญญาณนั้นสำคัญเกินกว่าที่เราจะปล่อยให้เป็นตามกระแส หรือสถานการณ์

การเติบโตฝ่ายวิญญาณที่นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่นั้น เริ่มจากการตัดสินใจแน่วแน่ที่กล่าวในโรม 6:13 "อย่ายกอวัยวะของท่านให้แก่บาป ให้เป็นเครื่องใช้ในการอธรรม แต่จงถวายตัวของท่านแด่พระเจ้า เหมือนหนึ่งคนที่เป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว และจงให้อวัยวะเป็นเครื่องใช้ในการชอบธรรมถวายแด่พระเจ้า" ผมจะอธิบายภายหลังว่า จะนำคนให้ตัดสินใจอุทิศชีวิตในลักษณะนี้ได้อย่างไร

ความเข้าใจผิด ๆ ประการที่ 2 :
การเติบโตฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องลึกลับและน้อยคนที่จะเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่

ทุกวันนี้พอเราพูดคำว่า "ชีวิตฝ่ายวิญญาณ" คนก็จะนึกภาพคนสวมชุดยาวสีขาว หลับตานั่งทำท่าโยคะ จุดธูปเทียน และท่องคาถา บางคนก็คิดถึงคริสเตียนหรือนักพรตที่ปลีกตัวจากโลกแห่งความจริง ทำตนให้ยากไร้และสันโดษ

น่าเสียดาย คริสเตียนมากมายรู้สึกว่าความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม และพวกเขาจึงไม่แม้แต่จะลองพยายามไปให้ถึง พวกเขาถูกครอบงำด้วยภาพในลักษณะลี้ลับ เป็นอุดมคติ และคิดว่าคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องเป็นอย่างนั้น เขาจึงคิดไปว่าคนที่จะเป็นผู้ใหญ่คือ "สุดยอดนักบุญ" เท่านั้น หนังสือชีวประวัติคริสเตียนหลายเล่มก็มีส่วนทำให้คนคิดอย่างนี้ เพราะมันปกปิดความเป็นมนุษย์ของคนของพระเจ้า และบอกเป็นนัย ๆ ว่า ถ้าคุณไม่อธิษฐานวันละสิบชั่วโมง ไม่ย้ายไปอยู่ในป่า และไม่วางแผนที่จะถูกฆ่าตายล่ะก็ อย่าได้ฝันว่าจะเป็นผู้ใหญ่เลย และนี่เองที่ทำให้คริสเตียนมากมายท้อใจ และคิดว่าควรพึงพอใจกับการเป็น "คริสเตียนชั้นสอง"

ความจริงคือ การเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องปฏิบัติได้จริง ๆ ผู้เชื่อทุกคนสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาหรือเธอจะพัฒนาอุปนิสัยที่จำเป็นสำหรับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ เราจำเป็นต้องเอาเรื่องลี้ลับออกไปจากการเติบโต โดยจำแนกองค์ประกอบต่าง ๆ ออกเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และเป็นเรื่องของอุปนิสัยในชีวิตประจำวัน

เปาโลมักเปรียบเทียบการฝึกตนในชีวิตคริสเตียนกับการฝึกซ้อมของนักกีฬา เจ. บี. ฟิลลิปห์ เรียบเรียง 1 ทิโมธี 4:7 เป็นภาษาชาวบ้านว่า "จงใช้เวลา และความพยายามทำให้ตัวเองแข็งแกร่งฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ" หนทางสู่ความแข็งแกร่งฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้เช่นเดียวกับหนทางสู่ความแข็งแกร่งฝ่ายร่างกาย

คนที่จะรักษาร่างกายให้แข็งแกร่งก็ต้องออกกำลังกาย และฝึกซ้อมจนเป็นอุปนิสัย เช่นเดียวกัน ชีวิตฝ่ายวิญญาณก็ต้องมีการออกกำลัง เรียนรู้ และฝึกนิสัยจนกลายเป็นอุปนิสัย และลักษณะนิสัยก็เกิดจากอุปนิสัยที่เราสร้างขึ้น

ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค เราเน้นการพัฒนาอุปนิสัยฝ่ายวิญญาณอย่างมากเราเห็นผู้คนเติบโตอย่างอัศจรรย์ เมื่อเราทำให้ความคิดเรื่องการเติบโตฝ่ายวิญญาณเป็นขั้นตอนที่ปฏิบัติได้ และเป็นอุปนิสัยในชีวิตประจำวัน

ความเข้าใจผิด ๆ ประการที่ 3 :
ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายจิตวิญญาณจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อคุณพบ"กุญแจ"นั้น

นี่เป็นความเข้าใจผิดที่แพร่หลายมาก เห็นได้ชัดว่ามันมาจากหนังสือคริสเตียนขายดีหลายเล่มที่คริสเตีบนมากมายหวังว่าจะเป็นจริง หนังสือที่สัญญาถึง "ขั้นตอนง่าย ๆ สี่ประการสู่ความเป็นผู้ใหญ่" หรือท"กุญแจสู่ความบริสุทธิ์ในวันนี้" คือ แรงเสริมที่ทำให้คนเชื่อในนิยายเหลวไหลที่ว่าลักษณะนิสัยแบบคริสเตียนสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาชั่วข้ามคืน

คริสเตียนที่จริงใจจำนวนมากทุ่มเทเวลาตลอดชีวิตเพื่อแสวงหาประสบการณ์ การประชุม การฟื้นฟู หนังสือ หรือเทป หรือสัจธรรม อันนั้น ที่จะเปลี่ยนแปลงเขสให้เป็นผู้ใหญ่ โดยฉับพลัน การค้นหาของพวกเขาจะสูญเปล่า แม้เราจะมีกาแฟสำเร็จรูปบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแม้แต่เครื่องดื่มลดน้ำหนักสำเร็จรูปก็ยังมี แต่ในโลกนี้ไม่มีของที่เรียกว่า "ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณสำเร็จรูป"

ความจริงคือ การเติบโตฝ่ายวิญญาณเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา พระเจ้าใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปในการพัฒนาเราให้เหมือนพระคริสต์ ไม่มีทางลัดสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เอเฟซัส 4:13 กล่าวว่า "จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่คือ เต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์" เมื่อกล่าวว่าความเป็นผู้ใหญ่ คือ จุดหมายปลายทาง ก็หมายความว่าเราต้องเดินทาง แม้เราจะอยากให้กระบวนการนี้รวบรัดรวดเร็ว แต่การเติบโตฝ่ายวิญญาณก็ยังคงเป็นการเดินทางที่ใช้เวลาตลอดชีวิต

ผมใช้เวลามากมายพยายามเข้าใจองค์ประกอบของกระบวนการนี้ และหาทางสื่อสารกระบวนการนี้อย่างเรียบง่าย เพื่อสมาชิกจะเข้าใจและจำได้ ผมเชื่อมั่นว่า ผู้เชื่อจะโตเร็วขึ้นเมื่อคุณเตรียมทางให้เขาเดินไป ผลก็คือเราได้ปรัชญาในการสอนที่เรียกว่า "กระบวนการพัฒนาชีวิต"

กระบวนการนี้ใช้กีฬาเบสบอลเป็นภาพเปรียบเทียบ เนื่องจากมันเป็นกีฬาที่คนอเมริกาทุกคนเข้าใจ และมันทำให้คนที่เราสอนเข้าใจได้ง่ายว่า เราต้องการให้เขาเป็นผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง เมื่อถึงฐานแต่ละฐาน เราอธิบายให้สมาชิกฟังว่า เราต้องการช่วยให้พวกเขาวิ่งครบทั้งสี่ฐาน เราต้องการให้คริสตจักรแซดเดิลแบ็คทำคะแนนเพราะในกีฬาเบสบอล เมื่อจบเกมแต่ละรอบ เราจะไม่ได้คะแนนสำหรับผู้เล่นที่ค้างอยู่ที่ฐานหนึ่ง สอง และสาม คนที่วนจนครบสี่ฐานเท่านั้นที่ได้คะแนน และฐานทั้งสี่ของเรา คือการเป็นสมาชิก ความเป็นผู้ใหญ่ การรับใช้ และภารกิจ และศิษยาภิบาลแต่ละคนทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอน

เมื่อคุณนำคนให้ตัดสินใจอุทิศชีวิตเพื่อจะเติบโต และสอนอุปนิสัยพื้นฐานบางอย่าง และให้คำแนะนำขณะที่เขาก้าวหน้าไปแต่ละขั้น คุณก็คาดหวังได้ว่าเขาจะเติบโต

ความเข้าใจผิด ๆ ประการที่ 4 :
ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณวัดจากสิ่งที่คุณรู้

คริสตจักรมากมายประเมินความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณโดยวัดเพียงแค่ว่า คุณรู้จักบุคคลในพระคัมภีร์ ตีความพระครัมภีร์ ท่องจำข้อพระคัมภีร์ และอธิบายหลักศาสนศาสตร์ได้ดีแค่ไหน บางคนมองว่าความสามารถในการถกประเด็นหลักข้อเชื่อ คือ ข้อพิสูจน์ถึงความเป็นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความรู้จะเป็นพื้นฐานของการเติบโตฝ่ายวิญญาณ แต่มันก็ไม่ใช่มาตรฐานเดียวที่ใช้วัด

ความจริงคือ ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณแสดงออกทางพฤติกรรมมากกว่าความเชื่อ ชีวิตคริสเตียนไม่ได้เป็นเพียงหลักข้อเชื่อหรือความเชื่อ แต่มันครอบคลุมถึงการประพฤติและลักษณะนิสัย ความเชื่อต้องมีพฤติกรรมเป็นข้อสนับสนุน การกระทำของเราต้องสอดคล้องกับความเชื่อ

พระคัมภีร์ใหม่สอนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า สิ่งที่แสดงความเป็นผู้ใหญ่คือการกระทำและทัศนคติ ไม่ใช่แค่การกล่าวยืนยันความเชื่อ ยากอบ 2:18 กล่าวตรง ๆ เลยว่า "จงแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นความเชื่อของท่านที่ไม่มีการประพฤติตาม และด้วยการประพฤติตาม ข้าพเจ้าจะแสดงให้ท่านเห็นความเชื่อของข้าพเจ้า" ยากอบยังกล่าวอีกว่า "ในพวกท่านผู้ใดเป็นคนฉลาดและมีปัญญา ก็ให้ผู้นั้นแสดงการประพฤติของตนด้วยพฤติกรรมอันดี" (ยก. 3:13) ถ้าความเชื่อของคุณไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความเชื่อนั้นก็ไม่มีค่าเท่าใดนัก

เปาโลเชื่อว่าความเชื่อและพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กัน ในจดหมายทุกฉบับของท่านจะนำสู่ข้อสรุปที่บอกให้ผู้อ่านประพฤติสิ่งที่ตนเชื่อ เอเฟซัส 5:8 กล่าวว่า "เพราะเมื่อก่อนนั้นท่านเป็นความมืด แต่บัดนี้ท่านเป็นความสว่างแล้วในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงดำเนินชีวิตอย่างลูกของความสว่าง"

ผู้ที่ตรัสอย่างเฉียบขาดที่สุดคือพระเยซู "ท่านจะรู้จักเขาได้ด้วยผลของเขา" (มธ. 7:16) สิ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นผู้ใหญ่คือผล ไม่ใช่ความรู้ ถ้าเราไม่ได้ประพฤติตามสิ่งที่รู้ เราก็ทำอย่างโง่เขลาโดยการ "สร้างเรือนไว้บนทราย" (มธ. 7:24-27)

ดังที่ผมกล่าวแล้วว่า ความรู้พระคัมภีร์เป็นเพียงมาตรวัดอย่างหนึ่งที่ใช้วัดการเติบโตฝ่ายวิญญาณ นอกจากนั้น เราสามารถวัดความเป็นผู้ใหญ่ได้จากมุมมอง ความมุ่งมั่น ทักษะ และลักษณะนิสัย นี่คือ "การเรียนรู้ห้าระดับ" ที่เราใช้ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค ในส่วนต่อไปผมจะแบ่งปันวิธีที่เราพยายามพัฒนาสาวกให้เข้มแข็งในห้าส่วนนี้

อันตรายใหญ่หลวงของการมีความรู้โดยปราศจากส่วนประกอบอีกสี่อย่างที่เหลือ คือ มันทำให้เกิดความหยิ่งผยอง "ความรู้นั้นทำให้ลำพอง แต่ความรักเสริมสร้างขึ้น" ความรู้ต้องถ่อมลงด้วยลักษณะนิสัย คริสเตียนที่เนื้อหนังที่สุดบางคนที่ผมรู้จักเป็นเหมือนโกดังเก็บความรู้ทางพระคัมภีร์เลยทีเดียว พวกเขาสามารถอธิบายตอนใดก็ได้ และปกป้องหลักข้อเชื่อได้ทุกข้อ แต่ก็ยังเป็นคนที่ไม่รักผู้อื่น ยึดความชอบธรรมของตนเอง และช่างตัดสิน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณพร้อมกับความหยิ่งผยองในเวลาเดียวกัน

อันตรายของการมีความรู้อีกประการ คือ มันเพิ่มความรับผิดชอบ "เหตุฉะนั้นผู้ใดรู้ว่าอะไรเป็นความดีและไม่ได้กระทำ คนนั้นจึงมีบาป" (ยก. 4:17) ยิ่งเรารู้พระวจนะลึกเท่าไหร่ การตัดสินสำหรับเราก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น ถ้าเราไม่ได้ประยุกต์ใช้ความรู้ ยุทธวิธีที่คริสตจักรของคุณคิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างผู้เชื่อ จะต้องช่วยเขาไม่เพียงให้การเรียนรู้พระวจนะเท่านั้น แต่เราต้องทำให้เขารักพระวจนะ และดำเนินชีวิตตามพระวจนะด้วย

ความเข้าใจผิด ๆ ประการที่ 5 :
การเติบโตฝ่ายวิญญาณเป็นเรื่องส่วนบุคคล

การบูชาลัทธิปัจเจกนิยม (ยึดถือความเป็นส่วนตัว) ในอเมริกามีอิทธิพลแม้แต่ในวิธีที่เราคิดถึงการเติบโตฝ่ายวิญญาณ การสอนส่วนมากเอียงไปในลักษณะยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และสนใจตนเองเป็นหลัก โดยไม่กล่าวถึงความสัมพันธ์กับคริสเตียนคนอื่น ๆ เลย นี่ขัดกับพระคัมภีร์อย่างสิ้นเชิง และละเลยสิ่งที่ได้กล่าวไว้มากมายในพระคัมภีร์ใหม่

ความจริงคือ คริสเตียนจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์เพื่อเติบโต เราไม่ได้เติบโตอย่างโดดเดี่ยว แต่เราเติบโตขึ้นในการสามัคคีธรรม ฮีบรู 10:24-25 กล่าวว่า "และขอให้พิจารณาดูว่าจะทำอย่างไร จึงจะปลุกใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น แต่จงพูดหนุนใจกันให้มากยิ่งขึ้น เพราะท่านทั้งหลายก็รู้อยู่ว่าวันนั้นใกล้เข้ามาแล้ว" พระเจ้าประสงค์ให้เราเติบโตขึ้นในครอบครัว

ในบทที่แล้วผมได้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์คือ "กาว" ที่ทำให้คนผูกพันกับคริสตจักร แต่ความสัมพันธ์ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่านั้นในการช่วยให้คนเป็นผู้ใหญ่ มันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ พระคัมภีร์สอนว่าการสามัคคีธรรมไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคริสเตียน แต่เป็นข้อกำหนด คริสเตียนที่ไม่ได้ผูกพันในความสัมพันธ์แห่งความรักกับผู้เชื่ออื่น ๆ ก็กำลังไม่เชื่อฟังพระบัญชาต่าง ๆ ที่มีคำว่า "ซึ่งกันและกัน"

ยอห์นบอกเราว่า ข้อพิสูจน์ว่าเราเดินในความสว่าง คือ เรามี "สามัคคีธรรมซึ่งกันและกัน" (1 ยอห์น 1:7) ถ้าคุณๅไม่ได้มีสามัคคีธรรมกับผู้เชื่อเป็นประจำ คุณควรถามตัวเองอย่างจริงจังว่า คุณกำลังเดินในความสว่างจริง ๆ หรือเปล่า

ยอห์นยังบอกอีกว่า เราจำเป็นต้องถามตัวเองว่า เรารอดแล้วจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าเราไม่รักพี่น้องผู้เชื่อ "เราทั้งหลายรู้ว่า เราได้พ้นจากความตายไปสู่ชีวิตแล้ว ก็เพราะเรารักพี่น้อง ผู้ใดที่ไม่รัก ผู้นั้นก็ยังอยู่ในความตาย" (1 ยอห์น 3:14) ถ้าความสัมพันธ์กับผู้เชื่อสำคัญขนาดนี้ ทำไมคริสตจักรจึงไม่เน้นเรื่องความสัมพันธ์ให้มากกว่านี้

คุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพระคริสต์สามารถเห็นได้จากความสัมพันธ์ที่คุณมีต่อผู้เชื่อด้วยกัน "ถ้าผู้ใดว่า ข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่ใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้" (1 ยอห์น 4:20) ให้สังเกตว่ายอห์นใช้คำว่า "ไม่ได้" เป็นไปไม่ได้ที่จะรักพระเจ้า ถ้าคุณไม่รักลูก ๆ ของพระองค์

พระเยซูยังสอนด้วยว่าถ้าเราขาดจากการสามัคคีธรรมกับพี่น้อง การนมัสการของเราก็ไร้ค่า (มัทธิว 5:23-24) คริสเตียนไม่สามารถมีความสามัคคีธรรมกับพระเจ้าและขาดจากสามัคคีธรรมกับผู้เชื่อในเวลาเดียวกันได้

เหตุผลหนึ่งที่คริสเตียนมากมายไม่เคยเป็นพยาน คือ เขาไม่รู้วิธีสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน เพราะไม่เคยอยู่กับคนกลุ่มเล็ก ๆ หรือพัฒนามิตรภาพ เขามีทักษะการสร้างความสัมพันธ์น้อยมาก เขาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนไม่เชื่อ เพราะแม้แต่ผู้เชื่อเขาก็สร้างสัมพันธ์ด้วยไม่เป็น เราต้องสอนให้เขารู้วิธีพัฒนาความสัมพันธ์แม้ว่าเรื่องนี้จะเห็นกันชัด ๆ แต่คริสตจักรน้อยแห่งเท่านั้นที่ใช้เวลาสอนให้สมาชิกสร้างความสัมพันธ์ต่อกันและกัน

ความเข้าใจผิด ๆ ประการที่ 6 :
ทั้งหมดที่คุณต้องการสำหรับการเติบโต คือ การศึกษาพระคัมภีร์

คริสตจักรหลายแห่งสร้างขึ้นบนความเข้าใจผิดนี้ ผมเรียกคริสตจักรเหล่านี้ว่า "คริสตจักรห้องเรียน" คริสตจักรห้องเรียนมักจะยึดติดกับสมองซีกซ้าย และเน้นว่าความรู้ความเข้าใจคือสิ่งสำคัญ เน้นคำสอนเรื่องเนื้อหาและหลักข้อเชื่อในพระคัมภีร์แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอารมณ์ ประสบการณ์ และความสัมพันธ์น้อยมาก คริสตจักรห้องเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งกล่าวว่า ทั้งหมดที่คุณต้องการสำหรับการเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณคือ "หลักข้อเชื่อในสมองส่วนหน้า"

ความจริงคือ ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณเกิดจากประสบการณ์ฝ่ายวิญญาณกับพระเจ้าในหลากหลายรูปแบบ ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณที่แท้จริงครอบคลุมถึงการมีหัวใจที่นมัสการและสรรเสริญพระเจ้า เสริมสร้างและชื่นชมกับความสัมพันธ์แห่งความรัก ใช้ของประทานและความสามารถพิเศษเพื่อปรนนิบัติผู้อื่น และแบ่งบันความเชื่อแก่คนที่หลงหาย ยุทธวิธีที่คริสตจักรใช้นำคนไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ต้องครอบคลุมประสบการณ์เหล่านี้ ทั้งหมด คือ นมัสการ สามัคคีธรรม ศึกษาพระคัมภีร์ ประกาศและรับใช้ พูดอีกอย่างก็คือ การเติบโตฝ่ายวิญญาณเกิดขึ้นโดยการเข้าร่วมในวัตถุประสงค์ทั้งห้าประการของคริสตจักร คริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่ไม่เพียงศึกษาเรื่องชีวิตคริสเตียนเท่านั้น แต่พวกเขามีประสบการณ์กับชีวิตคริสเตียนโดยตรง

เนื่องจากคริสเตียนบางคนได้ทำผิดพลาด โดยเน้นประสบการณ์ทางอารมณ์มากเกินไป จนละเลยหลักข้อเชื่อที่ถูกต้องตามพระคัมภีร์ คริสตจักรหลายแห่งจึงลดคุณค่าของประสบการณ์ในการเติบโตฝ่ายวิญญาณลง พวกเขาตอบโต้กลุ่มที่ยกย่องประสบการณ์ โดยการกระทำที่ตกขอบไปอีกข้าง นั่นคือเขาไม่ยอมให้มีการเน้นประสบการณ์ใด ๆ เลย และมองประสบการณ์ทุกอย่างด้วยความสงสัย โดยเฉพาะประสบการณ์ที่มีผลต่ออารมณ์

น่าเศร้าที่กระทำเช่นนี้เป็นการปฏิเสธความจริงที่ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีอารมณ์เช่นเดียวกับที่ทรงให้มีความคิด พระเจ้าทรงประทานความรู้สึกแก่เราโดยมีจุดมุ่งหมาย เมื่อคุณเอาประสบการณ์ทั้งหมดออกไปจากกระบวนการเติบโต คุณก็จะไม่เหลืออะไรเลยนอกจากหลักข้อเชื่อที่เป็นหมันอยู่ในสมอง ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้แต่ไม่สามารถชื่นชมหรือปฏิบัติได้

เฉลยธรรมบัญญัติ 11:2 กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงพิจารณาในวันนี้ (เพราะข้าพเจ้ามิได้กล่าวกับลูกหลานของท่านทั้งหลาย ผู้ไม่ได้รู้เรื่องหรือเห็นเหตุการณ์เหล่านั้น)" ประสบการณ์คือครูที่ยิ่งใหญ่ ที่จริงมีบทเรียนบางอย่างที่เราจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ เท่านั้น ผมชอบคำถอดความสุภาษิต 20:30 ที่กล่าวว่า "บางครั้งเราต้องพบประสบการณ์ที่เจ็บปวดจึงจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้"

ครั้งหนึ่งผมได้ฟังจีน เก็ทซ์ ครูสอนพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า การศึกษาพระคัมภีร์ ในตัวของมันเอง ไม่ได้ทำให้เกิดชีวิตฝ่ายวิญญาณ ที่จริงมันทำให้เกิดชีวิตฝ่ายเนื้อหนังถ้าเราไม่นำมาประยุกต์และปฏิบัติในชีวิต" ผมพบว่านี่เป็นความจริง การศึกษาโดยปราศจากการรับใช้ คือ การผลิตคริสเตียนที่มีทัศนคติชอบพิพากษาและเย่อหยิ่งฝ่ายวิญญาณ

ถ้าคริสตศาสนาเป็นปรัชญา เช่นนั้นการศึกษาคงเป็นกิจกรรมหลักของเรา แต่คริสตศาสนาเป็นความสัมพันธ์และชีวิต คำที่ใช้บ่อยที่สุดเวลาบรรยายถึงชีวิตคริสเตียนคือ รัก ให้ เชื่อ และรับใช้ พระเยซูไม่ได้ตรัสว่า "เราได้มาเพื่อท่านทั้งหลายจะเรียน" อันที่จริง คำว่า "เรียน" ปรากฏเพียงสองสามครั้งในพระคัมภีร์ใหม่ แต่ถ้าคุณดูตารางเวลาของคริสตจักรจำนวนมาก คุณจะเข้าใจว่าการเรียน คือ หน้าท่ีหลักของคริสเตียน

สิ่งสุดท้ายที่ผู้เชื่อจำนงนมากจำเป็นต้องใช้รับ คือ การเรียนพระคัมภีร์เพิ่มเติมพวกเขารู้มากเกินกว่าจะทำได้อยู่แล้ว สิ่งที่เขาต้องการ คือ ประสบการณ์ในการรับใช้และการประกาศ ซึ่งเขาจะสามารถ ประยุกต์ใช้ สิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว เขาต้องการประสบการณ์ในความสัมพันธ์ (เช่นกลุ่มย่อย) ซึ่งเขาจะรับผิดชอบต่อผู้อื่นในสิ่งที่เขารู้ และเขาต้องการประสบการณ์ในการนมัสการที่มีความหมาย ซึ่งเขาสามารถ แสดง ความชื่นชมให้พระเจ้าตามที่เขาได้รู้

ยากอบจำเป็นต้องเตือนคริสเตียนยุคแรกว่า "แต่ท่านทั้งหลายจงเป็นคนที่ประพฤติตามพระวจนะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น ซึ่งเป็นการลวงตนเอง" (ยากอบ 1:22) มีภาพโบราณที่เปรียบเทียบเรื้องนี้ คือ บ่อน้ำที่เน่าเสียเพราะไม่มีทางระบายน้ำออก เมื่อตารางเวลาของคริสเตียนเต็มไปด้วยการรับความรู้ทางพระคัมภีร์ แต่ไม่มีการถ่ายเทออกเป็นการรับใช้และการประกาศ การเติบโตฝ่ายวิญญาณของเขาก็จะเน่าเสีย การเรียนรู้โดยไม่มีการแสดงออกจะนำไปสู่ความเฉื่อยชา

คริสตจักรทำร้ายสมาชิกอย่างร้ายแรง โดยการทำให้เขาต้องยุ่งอยู่กับการเรียนบทเรียนใหม่ ๆ จนเขาไม่มีเวลานำบทเรียนเก่า ๆ ไปใช้ พวกเขาลืมบทเรียนเสียก่อนจะเข้าใจลึกซึ้งและปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็คิดไปว่าตนเองโตขึ้น เพราะสมุดบันทึกของเขาหนาขึ้น เรื่องนี้ก็เป็นความโง่เขลา

โปรดอย่าคิดว่าผมไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาพระคัมภีร์ ความจริง คือ ตรงกันข้าม ผมเขียนตำราเกี่ยวกับวิธีศึกษาพระคัมภีร์ชื่อ Dynamic Bible Study Method (วิธีศึกษาพระคัมภีร์อย่างพลัง) เราต้อง "มุ่งหน้าต่อไปในพระวจนะ" เพื่อจะเป็นสาวกของพระคริสต์ แต่สิ่งที่ผมจะบอกคือ เป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่าการศึกษา เพียงอย่างเดียว จะทำให้คนเป็นผู้ใหญ่ การศึกษาเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในกระบวนการสู่ความเป็นผู้ใหญ่ นอกเหนือจากการศึกษาแล้ว คนเรายังจำเป็นต้องมีประสบการณ์เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คริสตจักรต้องมียุทธวิธีที่ สมดุล เพื่อการสร้างสาวก

วางแผนยุทธวิธี

ยุทธวิธีสร้างสาวกของคริสตจักรแซดเดิลแบ็คมีพื้นฐานอยู่บนความจริงหกประการ ซึ่งผมได้ชี้ให้เห็นว่าขัดแย้งกับความเข้าใจผิด ๆ ทั้งหกประการอย่างไร เราเชื่อว่าการเติบโตฝ่ายวิญญาณ เริ่มต้นจากการมอบถวายชีวิต เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อบไป เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุปนิสัย วัดได้โดยตัวแปรห้าประการ รับการกระตุ้นจากความสัมพันธ์ และผู้ที่จะเติบโตจำเป็นต้องมีส่วนในวัตถุประสงค์ห้าประการของคริสตจักร

ยกระดับการอุทิศชีวิต

ผมชอบที่ เอลตัน ทรูบลัด เรียกคริสตจักรว่า "บริษัทของผู้อุทิศชีวิต" จะวิเศษมากถ้าคริสตจักรทุกแห่งมีชื่อเสียงเรื่องการอุทิศชีวิตของสมาชิก

วิธีหนึ่งที่จะวัดว่าคริสตจักรเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณหรือไม่ คือ เมื่อเวลาผ่านไปมาตรฐานสำหรับการเป็นผู้นำคริสตจักรเข้มงวดขึ้นหรือไม่ เช่นที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค เมื่อหลายปีผ่านไป เราได้ทำมาตรฐานเข้มงวดขึ้นไม่ใช่น้อย และเราก็เพิ่มเงื่อนไขที่เข้มงวดสำหรับงานรับใช้อื่น ๆ ด้วย เช่น ศิษยาภิบาลฆราวาส และนักดนตรี

ทุกครั้งที่คุณเพิ่มมาตรฐานสำหรับผู้นำ คุณก็จะยกระดับทุกคนในคริสตจักรขึ้นอีกเล็กน้อย เหมือนวลีที่ว่า "เมื่อน้ำขึ้น เรือทุกลำก็ลอยสูงขึ้น" ให้คุณมุ่งเน้นที่การยกระดับการอุทิศชีวิตเพียงส่วนหนึ่ง คุณจะพบว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณยกระดับมาตรฐานการอุทิศชีวิตของผู้นำในตำแหน่งที่โดดเด่น คุณก็ได้ยกระดับความคาดหวังสำหรับคนอื่น ๆ ที่เหลือด้วย

แล้วคุณจะทำให้คนอุทิศชีวิตเพื่อกระบวนการเติบโตฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร

คุณต้องเรียนร้องให้คนอุทิศชีวิต ถ้าคุณไม่เรียกร้องให้คนอุทิศชีวิต คุณก็จะไม่ได้คนที่อุทิศชีวิต และถ้าคุณไม่เรียกร้องให้สมาชิกอุทิศชีวิตเพื่อคริสตจักร คุณแน่ใจได้เลยว่า คนกลุ่มอื่นจะเรียกร้องการอุทิศชีวิตจากพวกเขา เช่น องค์กรประชาชน สมาคมช่วยเหลือสังคม พรรคการเมือง หรืองานรับใช้ขององค์การคริสเตียน ปัญหาไม่ใช่ว่าพวกเขาจะอุทิศชีวิตหรือไม่ แต่ปัญหาคือเขาจะอุทิศชีวิตให้ใคร ถ้าคริสตจักรไม่เรียกร้องและคาดหวังการอุทิศชีวิต พวกเขาก็จะสรุปเอาเองว่า กิจกรรมที่คริสตจักรทำนั้นไม่สำคัญเท่ากิจกรรมอื่น ๆ ที่เขาทำ

ผมประหลาดใจมาก เมื่อเห็นองค์กรทางสังคมเรียกร้องจากสมาชิกมากกว่าที่คริสตจักรท้องถิ่นเรียกร้อง ถ้าคุณเคยเป็นผู้ปกครองเด็กที่ลงแข่งกีฬา (ในสหรัฐฯ) คุณก็จะรู้ว่า เมื่อลูกของคุณลงชื่อร่วมทีม คุณ ก็มีหน้าที่จะทุ่มเทให้แก่ทีม โดยการเตรียมเครื่องดื่ม การรับส่ง ถ้วยรางวัล และงานเลี้ยงฉลองชัยชนะ คุณจะไม่เพียงแค่มาชมการแข่งขันเท่านั้น และสำหรับคุณแล้ว การมีส่วนร่วมนั้นก็ไม่ใช่ ความสมัครใจของคุณเลย

สิ่งหนึ่งที่คริสตจักรสามารถช่วยสมาชิกอย่างมากคือ การช่วยเขาให้แยกแยะได้ว่าควรทุ่มเทชีวิตเพื่อสิ่งใด และควรลดการทุ่มเทในสิ่งใด เหตุผลที่เรามีคริสเตียนอ่อนแออมากมายก็เพราะ พวกเขาทุ่มเทแบบสองจิตสองใจให้หลาย ๆ สิ่ง แทนที่จะอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อสิ่งที่สำคัญที่สุด อุปสรรคที่ทำให้คนมากมายไม่เติบโตฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่เพราะเขาขาดการอุทิศชีวิต แต่เป็นเพราะเขาอุทิศชีวิตให้แก่สิ่งที่ผิด เราต้องสอนคนให้อุทิศชีวิตอย่างเฉลียวฉลาด

เรียกร้องด้วยความมั่นใจให้คนทุ่มเททั้งชีวิต พระเยซูเรียกร้องการอุทิศชีวิตอย่างชัดเจนและมั่นใจเสมอ พระองค์ไม่เคยลังเลที่จะเรียกร้องให้ชายและหญิงสละสิ่งสารพัดและติดตามพระองค์ และนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ ยิ่งคุณเรียกร้องการอุทิศชีวิตมากเท่าใด คุณก็ยิ่งได้รับการตอบสนองมากเท่านั้น

คนเรา ต้องการ อุทิศชีวิตให้บางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อชีวิต เราตอบสนองต่อความรับผิดชอบที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย สิ่งที่ดึงดูดใจเราคือนิมิตที่ท้าทายตรงกันข้าม คนจะเฉยเมยต่อข้อเรียกร้องที่อ่อนปวกเปียกและการร้องขอความช่วยเหลือที่น่าสมเพช พระเยซูทราบเรื่องนี้ดีเมื่อพระองค์ตรัสในลูกา 14:33 "ทุกคนในพวกท่านที่มิได้สละสิ่งสารพัดที่ตนมีอยู่ จะเป็นสาวกของเราไม่ได้" พระองค์เรียกร้องให้คนอุทิศทั้งชีวิต

อาทิตย์หนึ่ง ผมสรุปคำเทศนาโดยแจกบัตรมอบถวายชีวิตชนิดพิเศษ ซึ่งเรียกร้องให้คนมอบถวายชีวิต ทั้งหมด แด่พระเยซูคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินทอง ความมุ่งหมายในชีวิต อุปนิสัย ความสัมพันธ์ อาชีพ ครอบครัว และแรงกาย ผมต้องประหลาดใจไม่ใช่เพราะเราได้บัตรกลับมาเป็นพัน ๆ ใบ แต่เพราะในจำนวนนั้นมี 177 ใบที่ลงชื่อโดยคนที่ไม่เคยลงชื่อในบัตรทะเบียนปกติ แม้เขาบอกว่าเขามานมัสการเป็นปี ๆ แล้วเขาไม่เคยรู้สึกว่ามันคุ้มกับเวลาของตนที่จะลงชื่อในบัตรลงทะเบียนประจำสัปดาห์ บางครั้งการเรียกร้องให้คนอุทิศชีวิตครั้งใหญ่ก็ง่ายกว่าให้เขาอุทิศชีวิตเพียงเล็กน้อย

ศิษยาภิบาลบางคนกลัวที่จะเรียกร้องให้คนอุทิศชีวิตทั้งหมด เขากลัวว่าคนจะพากันหนีไป แต่คนจะโกรธเคืองที่คุณเรียกร้องให้เขาอุทิศชีวิต ถ้าคุณมีจุดมุ่งหมายยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลังการเรียกร้องนั้น ความแตกต่างสำคัญที่ต้องจำไว้ คือ คนจะตอบสนองต่อนิมิตที่ร้อนแรง ไม่ใช่ความขาดแคลน นี่คือสาเหตุที่การเน้นเรื่องการเป็นผู้อารักขาที่ดีนั้น หลายครั้งไม่ได้ผล เพราะมันเน้นที่ความขาดแคลนของคริสตจักรไม่ใช่นิมิตของคริสตจักร

เรียกร้องการอุทิศชีวิตอย่างเจาะจง กุญแจอีกดอกในการยกระดับการอุทิศชีวิต คือ พูดอย่างเจาะจง บอกพวกเขาอย่างชัดเจนว่า คุณคาดหวังอะไรจากเขา ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค แทนที่เราจะพูดว่า "จงอุทิศชีวิตเพื่อพระเยซู" เราอธิบายอย่างเจาะจงว่า การอุทิศชีวิตให้พระเยซูนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เราเรียกให้คนมอบชีวิตแด่พระคริสต์ แล้วจึงให้บัพติศมา แล้วจึงให้เป็นสมาชิก แล้วจึงพัฒนาอุปนิสัยเพื่อให้เขาเป็นผู้ใหญ่ แล้วจึงให้เขาทำงานรับใช้ และสุดท้ายคือ นำให้เขาทำภารกิจแห่งชีวิตครอบคลุมถึงอะไรบ้าง

อธิบายประโยชน์ของการอุทิศชีวิต กุญแจอีกดอกในการยกระดับการอุทิศชีวิตคือ บอกให้เขารู้ประโยชน์ของการมอบถวายชีวิต พระเจ้าบอกเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าในพระคัมภีร์ พระบัญชามากมายมีพระสัญญาที่แสนวิเศษแนบติดมาด้วย เราจะลงเอยด้วยพระพรเสมอเมื่อเราเชื่อฟัง

อย่าลืมอธิบายประโยชน์ส่วนบุคคล ประโยชน์สำหรับครอบครัว ประโยชน์สำหรับพระกายของพระคริสต์และสังคมทั่วไป และประโยชน์ นิรันดร์ คนเรามีความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะเรียนรู้ เติบโต และพัฒนา แต่บางครั้งคุณก็ต้องปลุกความปรารถนานั้นให้ตื่นขึ้น โดยการบอกให้เขารู้เป้าหมายของการเรียนรู้และวัตถุประสงค์ของการเติบโต ในด้านคุณค่าและประโยชน์สำหรับเขา

บางครั้งผมทึ่งกับวิธีการที่นักโฆษณาทำให้สินค้าธรรมดา ๆ อย่างยาดับกลิ่นกาย ผงซักฟอก และน้ำยาล้างจาน กลายเป็นเหมือนสิ่งที่จะทำให้ให้คุณพบ ความหมายในชีวิต ความกระฉับกระเฉง และความสุขสดชื่นใหม่ ๆ นักโฆษณาเป็นปรามาจารย์ด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ มันช่างเสียดแทงใจที่คริสตจักรมีเคล็ดลับที่แท้จริงแห่งความหมายความสำคัญ และความพึงพอใจในชีวิต แต่เรามักจะนำเสนอในรูปแบบที่จืดชืด ไม่น่าดึงดูด

ในตอนเริ่มต้นชั้นเรียน 101, 201, 301 และ 401 เราชี้ให้เห็นคุณค่าและประโชยน์ของการเข้าเรียนโดยการกล่าวว่า "นี่คือสิ่งที่ชั้นเรียนนี้จะให้แก่คุณ" และเราอธิบายชัดเจนถึงประโยชน์ของการอุทิศชีวิตเพื่อพันธสัญญาทั้งสี่ประการด้วย

สร้างคนขึ้นบนการมอบถวายชีวิต ไม่ใช่เพื่อให้มอบถวายชีวิต แม้คุณจะบอกสมาชิกว่าคุณจะพาเขาไปสู่จุดไหน (โดยการท้าทายให้เขามอบถวายชีวิตทั้งหมด) แต่เป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องเริ่มต้นจากการมอบถวายชีวิตในระดับที่เขาสามารถทำได้ ไม่ว่ามันจะดูเล็กน้อยเพีบงใด

เราท้าทายให้คนตัดสินใจมอบถวายชีวิต แล้วจึงเติบโตไปสู่สิ่งที่เขาตัดสินใจนั้น มันคล้ายกับการเป็นพ่อแม่ มีสามีภรรยาน้อยคู่ที่รู้สึกว่าตนเองพร้อมก่อนที่จะมีลูกคนแรก แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หลังจากตัดสินใจแล้วและลูกคนแรกเกิดมา ทั้งสองเติบโตขึ้นสู่บทบาทของการเป็นพ่อแม่

คุณอาจแบ่งการมอบถวายชีวิตเป็นหลายขั้นตอน และค่อย ๆ นำเขาให้พัฒนาขึ้นก็ได้ เรามีเจตนาอยู่เบื้องหลังกระบวนการพัฒนาชีวิต (โดยเปรียบกับเบสบอล ซึ่งผู้เล่นต้องวิ่งวนครบสี่ฐานจึงจะได้คะแนน) โดยไม่คาดหวังว่าคนจะเติบโตจากผู้เชื่อใหม่และอุทิศชีวิตเหมือนบิลลี่ เกรแฮม หรือแม่ชีเทเรซาในเวลาข้ามคืน เราปล่อยให้เขาเดินเตาะแตะก่อน การใช้ภาพสนามเบสบอลทำให้คนรู้ว่าเขามาไกลแค่ไหนแล้ว และต้องไปอีกไกลแค่ไหน

เป็นสิ่งสำคัญที่จะมีการเฉลิมฉลองทุกครั้งที่มีสมาชิกตัดสินใจรุดหน้าไปฐานต่อไป สมาชิกควรได้รับการยอมรับและรางวัล ในความสามารถที่จะตัดสินใจและยืนหยัดในการมอบถวายชีวิต ให้คุณจุดงานเฉลิมฉลองเพื่อประกาศการเติบโตนั้นต่อสาธารณชน เราจัดงานเลี้ยงทุกสิ้นปีเพื่อแสดงความยินดีกับคนที่ลงนามในพันธสัญญาการเติบโต และยืนยันการตัดสินใจนั้นสำหรับปีต่อไป

งานฉลองทำให้คนสัมผัสถึงความรู้สึกแห่งความสำเร็จ และกระตุ้นให้เขาได้ก้าวหน้าต่อไป ครั้งหนึ่งมีคนบอกผมว่า "ผมเรียนรวีฯ มากกว่าสามสิบปีแล้ว ผมจะมีวันจบการศึกษาไหนครับ" ฉะนั้น ในงานฉลองให้คุณเปิดโอกาสให้คนเล่าคำพยานว่าการพัฒนาระดับการอุทิศชีวิตเป็นพระพรในชีวิตเขาอย่างไร

ช่วยให้สมาชิกพัฒนาอุปนิสัยแห่งการเติบโตฝ่ายวิญญาณ

วิธีที่ใช้ได้จริงและได้ผมที่สุด ในการทำให้ผู้เชื่อมุ่งไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ คือ การช่วยเขาพัฒนาอุปนิสัยที่ส่งเสริมการเติบโตฝ่ายวิญญาณ ซึ่งมักเรียกกันว่า วินัยฝ่ายวิญญาณ แต่เราเลือกใช้คำว่า อุปนิสัย เพราะมันฟังดูน่ากลัวน้อยกว่าในความรู้สึกของผู้เชื่อใหม่ ขณะที่เราสอนว่าการเป็นสาวกย่อมต้องอาศัยวินัย เราก็เชื่อด้วยว่าอุปนิสัยเหล่านี้มีไว้ให้ เพลิดเพลิน ไม่ใช่ให้ทนรับ เราไม่ต้องการให้คนกลัวการฝึกฝนฝ่ายวิญญาณ ซึ่งจะช่วยพัฒนาและเสริมสร้างเขาให้แข็งแกร่ง

ครั้งหนึ่ง ดอสโตเยฟสกี้กล่าวว่า "ช่วงครึ่งหลังของชีวิตคนเกิดจากอุปนิสัยที่เขาสั่งสมมาในช่วงครึ่งแรกของชีวิต" (ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ นักประพันธ์ยิ่งใหญ่ชาวรัสเซียควบคู่กับลีโอ ตอลสตอย เขาได้สมญาว่า "ภูผาแห่งวรรณกรรมรัสเซีย" - ผู้แปล) และปาสกาลกล่าวว่า "ความแข็งแกร่งแห่งคุณธรรมของมนุษย์นั้นวัดด้วยการกระทำที่เป็นนิสัย" มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอุปนิสัย ถ้าเราไม่สร้างอุปนิสัยดี ๆ เราก็จะสร้างอุปนิสัยแย่ ๆ

มีอุปนิสัยดี ๆ เป็นสิบ ๆ อย่างที่จำเป็นสำหรับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ ในการวางแผนชั้นเรียน 201 ผมใช้เวลายาวนานคิดถึงอุปนิสัยที่เป็นรากฐาน ซึ่งคนต้องเรียนรู้เสียก่อนจึงจะเติบโตได้ อย่างน้อยเขาต้องมีอุปนิสัยใดบ้างเพื่อจะเติบโต และอะไรคืออุปนิสัยที่เป็นหัวใจสำคัญซึ่งก่อให้เกิดอุปนิสัยอื่น ๆ ขณะผมศึกษา ผมก็ต้องย้อนกลับมาที่อุปนิสัยกลุ่มหนึ่งเสมอ เพราะถ้าเป็นเจ้านายของพระคริสต์ครอบคลุมถึงอุปนิสัยกลุ่มนี้เมื่อไหร่ พระองค์ก็ครอบครองอย่างแท้จริง อุปนิสัยกลุ่มนี้มีสามด้านคือ อุปนิสัยที่มีผมต่อเวลา เงินทอง และความสัมพันธ์

ชั้นเรียน 201 "ค้นพบความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ" เน้นการพัฒนาอุปนิสัยพื้นฐานสี่ประการสำหรับสาวก คือ อุปนิสัยการใช้เวลากับพระวจนะ อุปนิสัยในการอธิษฐาน อุปนิสัยการถวายสิบลด และอุปนิสัยการสามัคคีธรรม อุปนิสัยเหล่านี้ตั้งอยู่บนคำตรัสของพระเยซูที่บรรยายถึงสาวก สาวกที่เชื่อฟังพระวจนะ (ยอห์น 8:31-32) สาวกอธิษฐานและเกิดผล (ยอห์น 15:7-8) สาวกไม่ถูกทรัพย์สมบัติครอบงำ (ลูกา 14:33) และสาวกแสดงความรักต่อผู้เชื่ออื่น ๆ (ยอห์น 13:34-35)

หลังจากสอนว่าอุปนิสัยเหล่านี้คืออะไร ทำไมต้องมี มีเนื้อใด และมีได้อย่างไร ชั้นเรียนนี้ก็ยังครอบคลุมถึงขั้นตอนที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อสมาชิกจะเริ่มต้นและรักษาอุปนิสัยอื่นๆ ในเนหะมีย์ 9:38 ทั้งชนชาติทำพันธสัญญาฝ่ายวิญญาณร่วมกัน ทำเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วให้บรรดาผู้นำลงนามเป็นสักขีพยาน ตอนท้ายของชั้นเรียน 201 เราสรุปโดยการให้ทุกคนลงนามในพันธสัญญาการเติบโต และรวบรวมบัตรที่สมาชิกลงนามแล้ว โดยผมจะลงนามเป็นสักขีพยาน เราเคลือบมัน แล้วจึงคืนให้สมาชิกเพื่อเขาจะเก็บไว้ในกระเป๋าสตางค์ ทุกปีเรารื้อฟื้นการมอบถวายชีวิตอีกครั้งและออกบัตรใหม่ เราพบว่าการยืนยันการมอบถวายชีวิตใหม่ทุก ๆ ปีจะช่วยสมาชิกที่ท้อใจหรือทิ้งอุปนิสัยดังกล่าวให้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่

คนที่ผ่านชั้นเรียน 201 กลายเป็นผู้ใหญ่ทันทีเลยหรือเปล่า แน่นอน ไม่ใช่ เราจึงตั้งชื่อมันว่า "ค้นพบ ความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ" วัตถุประสงค์คือ ทำให้สมาชิกเริ่มออกเดินทาง เมื่อเขาผ่านชั้นเรียน เขาจะตั้งใจทำตามกระบวนการ และอุปนิสัยพื้นฐานซึ่งจำเป็นสำหรับการเติบโต แม้เขาจะยังต้องต่อสู้ดิ้นรนในการเดินทางนี้ แต่เขาก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรหลังจบจากชั้นนี้ มันน่าประทับใจมากเมื่อเห็นสมาชิกในแต่ละชั้นมอบถวายเวลา เงินทอง และความสัมพันธ์แด่พระคริสต์ ใบหน้าของเขาเต็มด้วยความหวังและความคาดหวังว่าเขาจะเติบโต และเขาก็เติบโตจริง ๆ

สร้างระบบคริสเตียนศึกษาที่สมดุล

ผมกล่าวก่อนหน้านี้ว่า มีมาตรฐานห้าประการที่ใช้วัดการเติบโตฝ่ายวิญญาณคือ ความรู้ มุมมอง ความมุ่งมั่น ทักษะ และลักษณะนิสัย การเรียนรู้ห้าระดับนี้เป็นอิฐแต่ละก้อนที่ก่อขึ้นเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ

ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค ระบบคริสเตียนศึกษาได้รับการสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงทั้งห้าระดับนี้ คงไม่มีเนื้อที่พอให้ผมพูดถึงวิชาต่าง ๆ ในสถาบันพัฒนาชีวิตของเราแต่ผมอยากอธิบายว่าเราพัฒนาระบบหลัก ๆ เพื่อช่วยการเรียนรู้แต่ละระดับอย่างไร

ความรู้ถึงพระวจนะ ในการเริ่มพัฒนาหลักสูตรเพื่อการเติบโตฝ่ายวิญญาณคุณจำเป็นต้องถามสองคำถาม "สมาชิกรู้อะไรแล้วบ้าง" และ "เขาจำเป็นต้องรู้อะไร" สำหรับคริสตจักรที่เติบโตด้วยจำนวนลูกหลานของสมาชิก หรือเติบโตเพราะคนย้ายมาจากคริสตจักรอื่น คุณก็อาจมีสมาชิกหลายคนที่มีความรู้พระคัมภีร์ดี แต่นั่นไม่ใช่ในกรณีของคริสตจักรที่ตั้งขึ้นเพื่อนำคนไม่เป็นคริสเตียน คุณจะเหมาเอาว่าสมาชิกใหม่รู้พระคัมภีร์ไม่ได้ คุณต้องเริ่มจากศูนย์

พิธีบัพติศมาล่าสุดของเรามีผู้เชื่อใหม่ 63 คน มีคนที่เคยนับถือศาสนาพุทธลักธิมอร์มอน คนที่มีพื้นเพเป็นยิว และอดีตแม่ชีคอธอลิก เมื่อคุณได้อดีตคนถือลัทธินิวเอจและอดีตคนไม่มีศาสนา คุณก็ต้องทำงานหนักพอสมควร เขาอาจไม่รู้จักแม้แต่บุคคลในพระคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด

ทอม ฮอลลาเดย์ ศิษยาภิบาลของเราที่นำทีมพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่ เล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาสนทนากับผู้เชื่อใหม่เอี่ยมที่กำลังต่อสู้กับการทดลองใจ ทอมเปิดให้ดูยากอบบทที่ 1 แล้วอธิบายจุดหมายของการทดลองใจ เมื่อชายคนนั้นจะลุกออกไปจากห้องทำงานทอม เขาพูดว่า "ผมนึกว่าการทดลองใจเป็นผลมาจากบาปในอดีตเสียอีก" ทอมตระหนักว่าชายคนนี้จำเป็นต้องได้รับมากกว่าคำอธิบายเรื่องการทดลองใจ เขาจำเป็นต้องเข้าใจมุมมองชีวิตตามอย่างพระคัมภีร์

ในระดับ "ความรู้" คริสตจักรคุณจำเป็นต้องให้การศึกษาพระคัมภีร์สำหรับ "ผู้เชื่อใหม่" รวมทั้งการสำรวจพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ครั้งหนึ่งเราใช้ 27 สัปดาห์สำรวจพระคัมภีร์ใหม่ 27 เล่ม มีหลักสูตรสำรวจพระคัมภีร์ดี ๆ มากมาย รวมถึง Walk Thru the Bible (เดินผ่านพระคัมภีร์) ที่โด่งดัง

หลักสูตรพัฒนาความรู้ทางพระคัมภีร์ที่ใหญ่ที่สุดของคริสตจักรแซดเดิลแบ็คคือ วิชาศึกษาพระคัภีร์เจาะลึกยาว 9 เดือน สอนโดยครูที่เป็นสมาชิกของเรา เราเรียกวิชานี้ว่า WORD ซึ่งย่อมาจากกิจกรรม 4 อย่างในวิชานี้ คือ W - Wonder คือ อยากรู้ (ถามคำถามเกี่ยวกับพระคัมภีร์ตอนนั้น) O - Observe คือสังเกต R - Reflect คือใคร่ครวญ และ D - Do คือลงมือปฏิบัติ วิชานี้มีพื้นฐานจากวิธีการที่ผมเขียนในหนังสือ Dynamic Bible Study Methods แต่ละชั่วโมงมีการบ้านให้ค้นคว้าด้วยตัวเอง มีการบรรยาย และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายการบ้าน ชั้นเรียนนี้เริ่มในเดือนกันยายนและจบในเดือนมิถุนายนปีถัดไป เรามีชั้นเรียน WORD สำหรับผู้หญิงสัปดาห์ละสองครั้ง และสำหรับผู้ชายสัปดาห์ละครั้ง

หนังสือทุกเล่มในพระคัมภีร์สำคัญ แต่ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็คเราให้สมาชิกศึกษาหนังสือหลัก ๆ ห้าเล่มก่อนที่เขาจะศึกษาเล่มอื่น ๆ ห้าเล่มนี้ คือ ปฐมกาล ยอห์น โรม เอเฟซัส และยากอบ

มุมมอง มุมมองคือ ความเข้าใจที่เกิดจากการมองเห็นในกรอบที่กว้างขึ้นมุมมอง คือ ความสามารถในการรับรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร แล้วจึงพิจารณาความสัมพันธ์ในเชิงเปรียบเทียบ ในแง่ของจิตวิญญาณ มันหมายถึงการมองชีวิตจากมุมมองของพระเจ้า ในพระคัมภีร์ คำว่า ความเข้าใจ สติปัญญา และ ความหยั่งรู้ ล้วนเกี่ยวข้องกับมุมมอง และมุมมองที่ตรงข้าม คือ ใจแข็งการด้าง ความมืดบอด และ ความเขลา

สดุดี 103:7 กล่าวว่า "พระองค์ทรงสำแดง วิธีการ ของพระองค์แก่โมเสสพระราชกิจของพระองค์แก่ประชาชนอิสราเอล" อิสราเอลต้องเข้าใจว่าพระเจ้าทรงทำอะไร แต่โมเสสต้องเข้าใจว่า ทำไม พระเจ้าทำสิ่งนั้น นี่คือความแตกต่างระหว่างความรู้และมุมมอง ความรู้ก็คือการเรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าตรัสและทำ ส่วนมุมมองก็คือการเรียนรู้ว่าทำไมพระองค์ตรัสและทำเช่นนั้น คือ การตอบคำถามชีวิตที่ว่า "ทำไม"

พระคัมภีร์สอนว่าผู้ไม่เชื่อไม่มีมุมมองฝ่ายวิญญาณ และการขาดมุมมองนั้นคือ เครื่องหมายของความเป็นเด็กฝ่ายวิญญาณ คือ ลักษณะของความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ ฮีบรู 5:14 กล่าวว่า "อาหารแข็งเป็นอาหารสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่ได้รับการฝึกหัดอบรมให้สามารถ รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว" การเรียนรู้จักมองสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของพระเจ้ามีประโยชน์มากมาย ซึ่งผมขอบอกสักสี่ประการ

ประการแรก มุมมองทำให้เรารักพระเจ้ามากขึ้น ยิ่งเราเข้าใจพระลักษณะและวิถีทางของพระเจ้ามากเท่าใด เราก็ยิ่งรักพระองค์มากเท่านั้น เปาโลอธิษฐานว่า "ท่านก็จะได้มีความสามารถหยั่งรู้พร้อมกับธรรมิกชนทั้งหมด ถึงความกว้าง ความยาว ความสูง ความลึก คือ ให้ซาบซึ้งในความรักของพระคริสต์ซึ่งเกินความรู้" (เอเฟซัส 3:18-19)

ประการที่สอง มุมมองช่วยเราต่อต้านการทดลอง เมื่อเรามองสถานการณ์ผ่านมุมมองของพระเจ้า เราตระหนักว่าผลระยะยาวที่เกิดจากบาปนั้นใหญ่หลวงเกินกว่าความพึงพอใจระยะสั้นที่มันให้ ถ้าปราศจากมุมมองนี้เราก็จะหันเหไปตามแนวโน้มตามธรรมชาติของเรา "มีทางหนึ่งซึ่งคนเรา ดูเหมือน ถูก แต่มันสิ้นสุดลงที่ทางของความมรณา" (สุภาษิต 14:12)

ประการที่สาม มุมมองช่วยเรารับมือกับการทดลอง เมื่อเรามองชีวิตด้วยมุมมองของพระเจ้า และเห็นว่า "พระเจ้าทรงช่วยคนที่รักพระองค์ให้เกิดผลอันดีในทุกสิ่ง" (โรม 8:28) และ "การทดลองความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง" (ยากอบ 1:3) มุมมองเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระเยซูสามารถทนรับไม้กางเขนได้ (ฮีบรู 12:2) พระองค์มองผ่านความเจ็บปวดไปสู่ความชื่นชมยินดีที่พระองค์จะรับในอนาคต

ประการที่สี่ มุมมองปกป้องเราจากความผิดพลาด ถ้าจะมีเวลาที่คริสเตียนจำเป็นต้องหยั่งรากลงในความจริง เวลานั้นก็คือวันนี้ เราอยู่ในสังคมที่ปฏิเสธว่ามีความจริงสูงสุด และยอมรับว่าความเห็นต่าง ๆ ถูกต้องเท่า ๆ กัน ลัทธิพหุนิยม (เชื่อในความจริงหลายหลาก) ทำให้สังคมเราสับสนมาก ปัญหาไม่ใช่สังคมของเราไม่เชื่ออะไรเลย แต่ปัญหาคือสังคมเราเชื่อไปหมด ทุกสิ่ง ศัตรูร้ายที่สุดของเราไม่ใช่ความสงสัย แต่เป็นการยอมรับทุกอย่าง

สิ่งที่เราต้องการมากในปัจจุบันก็คือ ศิษยาภิบาลและครูที่สอนมุมมองของพระเจ้าอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ งาน เงินทอง ความสุข ความทุกข์ยาก ความดี ความชั่ว ความสัมพันธ์ และเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต เมื่อเรามีมุมมอง "เราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไปถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง" มุมมองจะทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง

คริสตจักรแซดเดิลแบ็คมีหลักสูตรสอนมุมมองชื่อว่า "มุมมองชีวิต" มันสอนศาสตร์ระบบ (สอนพระคัมภีร์ตามหัวข้อเรื่อง) โดยเคย์ภรรยาของผม และทอม ฮอลลาเดย์ ศิษยาภิบาลด้านพัฒนาสมาชิกให้เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้เขียนหลักสูตร "มุมมองชีวิต" ครอบคลุมถึงหลักข้อเชื่อสำคัญสิบสองประการ และสอนสัปดาห์ละสองครั้งเป็นเวลา 27 สัปดาห์ โดยเคย์ และสมาชิกที่เป็นผู้นำ รูปแบบการสอนเป็นการผสมผสานระหว่างการบรรยายและกลุ่มอภิปราย

มุมมองชีวิต 1

หลักข้อเชื่อ: มุมมองพื้นฐาน

พระเจ้า: พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่าและดีกว่าที่ฉันจะคิดได้

พระเยซู: พระเยซูคือพระเจ้าที่สำแดงพระองค์แก่เรา

พระวิญญาณบริสุทธิ์: พระเจ้าดำเนินชีวิตในฉันและผ่านฉันในเวลานี้

การเปิดเผย: พระคัมภีร์คือหนังสือนำทางชีวิตที่ไม่มีข้อผิดพลาดจากพระเจ้า

การเนรมิตสร้าง: ไม่มีอะไรที่ "อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้น" พระเจ้าสร้างทุกสิ่ง

ความรอด: พระคุณเป็นทางเดียวที่จะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า

การชำระให้บริสุทธิ์: พระประสงค์ของพระเจ้าคือให้เราเติบโตเป็นเหมือนพระคริสต์

ความดีและความชั่ว: พระเจ้าอนุญาติให้ความชั่วทำให้เกิดทางเลือก พระเจ้าสามารถทำให้เกิดสิ่งดีได้แม้จากเหตุการณ์เลวร้าย

ชีวิตหลังความตาย: ความตายไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น สวรรค์และนรกเป็นสถานที่จริง

คริสตจักร: "มหาอำนาจ" ที่แท้จริงของโลกคือคริสตจักร คริสตจักรจะคงอยู่ตลอดไป

การอธิษฐาน: การอธิษฐานสามารถทำทุกสิ่งที่พระเจ้าทำได้

การเสด็จมาครั้งที่สอง: พระเยซูจะเสด็จมาอีกครั้งเพื่อพิพากษาโลกและรับลูก ๆ ของพระองค์

ความมุ่งมั่น พจนานุกรมภาษาอังกฤษมักแปลคำนี้ (conviction) ว่า "ความเชื่อที่แน่วแน่หรือมั่นคง" แท้จริงมันมีความหมายมากกว่านั้น มันรวมถึง ค่านิยม การอุทิศชีวิตและแรงจูงใจ ผมชอบคำจำกัดความที่ได้ยินจาก โฮเวิร์ด เฮนดริกซ์ว่า "ความเชื่อ คือ สิ่งที่คุณเอาไปเถียงกับคนอื่น ความมุ่งมั่น คือ สิ่งที่คุณยอมตายเพื่อมัน" การรู้จะไร้ค่า หากปราศจากความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้ลงมือทำจริง ๆ

เมื่อคุณเป็นคริสเตียนใหม่ คุณมักจะทำเพราะคริสเตียนรอบข้างแนะนำหรือทำเป็นตัวอย่าง คุณอาจอธิษฐาน อ่านพระคัมภีร์ และร่วมนมัสการ เพราะคุณตามแบบอย่างของคนอื่น สำหรับคริสเตียนใหม่ ๆ นั่นเป็นสิ่งที่ดี เด็กเล็ก ๆ ก็เรียนรู้ด้วยวิธีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณโตขึ้น ในที่สุดคุณต้องมีเหตุผลของตนเองในสิ่งที่คุณทำ เหตุผลเหล่านั้นคือ ความมุ่งมั่น ความมุ่งมั่นตามพระคัมภีร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเติบโตและความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณ

น่าเศร้าที่คนมากมายมีค่านิยมที่คลุมเครือ จัดลำดับความสับสัน และมีการอุทิศชีวิตกระเจิดกระเจิง ครั้งหนึ่ง เจมส์ กอร์ดอน กล่าวว่า "คนที่ไม่มีความมุ่งมั่น ก็อ่อนแอเหมือนประตูที่ยึดด้วยบานพับอันเดียว"

คนที่ไม่มีความมุ่งมั่นจะตกอยู่ใต้อำนาจของสถานการณ์ ถ้าคุณไม่ตัดสินใจว่าสิ่งใดสำคัญและจะดำเนินชีวิตอย่างไร คนอื่นจะตัดสินใจแทนคุณ คนที่ไม่มีความมุ่งมั่นจะตามฝูงชนไปอย่างไร้สติยั้งคิด ผมเชื่อว่าเปาโลกำลังพูดถึงความมุ่งมั่น เมื่อท่านกล่าวในโรม 12:2 ว่า "อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรักการเปลี่ยนแปลงจิตใจแล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อจะได้ทราบน้ำพระทัยของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัย และอะไรดียอดเยี่ยม"

คริสตจักร ต้อง สอนความมุ่งมั่นตามพระคัมภีร์ เพื่อจะต่อต้านค่านิยมของโลกซึ่งผู้เชื่อได้รับอยู่เป็นประจำ เหมือนภาษิตโบราณที่กล่าวว่า "ถ้าคุณไม่ยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่าง คุณก็จะล้มลงเพื่ออะไรก็ได้" มันน่าเสียดสีมากที่ผู้คนมักจะมีความมุ่งมั่นในเรื่องที่ไม่สำคัญ (เช่น ฟุตบอล แฟชั่น) ขณะที่เขามุ่งมั่นน้อยมากในเรื่องสำคัญ ๆ (สิ่งที่ถูกและผิด)

ความมุ่งมั่นจะช่วยให้เราขยันขันแข็งในการการเติบโตฝ่ายวิญญาณ การเติบโตต้องใช้เวลาและความพยายาม ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นที่จะเติบโต คนก็จะท้อถอยและยอมแพ้ ไม่มีใครจะยืนหยัดอยู่กับภารกิจยาก ๆ นอกจากเขาจะเชื่อมั่นว่ามีเหตุผลดี ๆ ที่ทำสิ่งนั้น คริสตจักรอาจสอนวิธีอธิษฐาน ศึกษาพระคัมภีร์ เป็นพยาน แต่ถ้าไม่มีความมุ่งมั่น เขาก็จะทำได้ไม่นาน

บรรดาคนที่สร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะแง่ดีหรือร้าย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดที่สุด รวยที่สุด หรือได้รับการศึกษาสูงที่สุด แต่พวกเขาเป็นคนที่มุ่งมั่นหนักแน่นที่สุด มาร์กซ์, คานนธี, โคลัมบัส และลูเธอร์ คือ คนที่เปลี่ยนแปลงโลกนี้เพราะความมุ่งมั่นของเขา

ในปี 1943 คนหนุ่มสาว 100,000 คนสวมชุดสีน้ำตาลชุมชนกันเต็มสนามกีฬาโอลิมปิก ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นสนามกีฬาใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานั้น พวกเขาติดเครื่องหมายเพื่อชายบ้าคลั่งที่ยืนอยู่หลังธรรมาสน์ ข้อความบนเครื่องหมายนั้นเขียนว่า "ฮิตเลอร์ เราเป็นของท่าน" และการอุทิศชีวิตของพวกเขาทำให้เขาพิชิตยุโรบได้ หลายปีหลังจากนั้น นักเรียนนักศึกษาชาวจีนอุทิศตนเพื่อจดจำและดำเนินตามปรัชญาในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ วาทะของท่านประธานเหมา ผมก็คือการปฏิบัติวัฒนธรรมในจีน ซึ่งทำให้ทุกวันนี้มีหนึ่งพันล้านคนตกอยู่ใต้อำนาจของลักธิคอมมิวนิสต์ นี่คือหลังของความมุ่งมั่น

ชีวิตของพระเยซูผลักดันด้วยความมุ่งมั่นที่ว่า พระองค์มาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา ความมุ่งมั่นนี้ทำให้เกิดความตระหนักลึกซึ้งถึงจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตของพระองค์ ความมุ่งมั่นนี้ทำให้พระองค์ไม่หันเหไปโดยความสนใจของคนอื่นถ้าคุณต้องการเข้าใจความมุ่งมั่นของพระองค์ ก็ให้คุณศึกษาทุกข้อที่พระเยซูตรัสว่า "เราต้อง…" เมื่อคนพัฒนาความมุ่นมั่นเหมือนอย่างพระคริสต์ เขาก็พัฒนาความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของชีวิต

ความมุ่งมั่นมีเสน่ห์ดึงดูดใจที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมลักธิต่าง ๆ จึงได้รับความนิยม ความเชื่อของลัทธิต่าง ๆ อาจผิดพลาดและผิดกฏหมาย แต่คนในลัทธิเชื่อด้วยความมุ่งมั่นจริง ๆ คริสตจักรที่ไม่มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนและเข้มแข็งจะไม่มีทางดึงดูดให้คนอุทิศชีวิตเพื่อพระคัมภีร์ในระดับที่สมควร ใจเราต้องถูกเผาผลาญด้วยความมุ่งมั่นว่า อาณาจักรของพระเจ้า คือ เป้าหมายสูงสุดในโลกนี้ แวนซ์ ฮาฟเนอร์ มักกล่าวว่า "พระเยซูเรียกร้องความจงรักภักดีมากยิ่งกว่าที่ผู้นำเผด็จการคนใดเคยเรียกร้อง แต่ข้อแตกต่าง คือ พระเยซูมี สิทธิ ที่จะรับความภักดีนั้น"

ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค เราสอนความมุ่งมั่นตามพระคัมภีร์ในทุกรายการชั้นเรียน สัมมนา และคำเทศนา แต่คนก็ เข้าใจ ความมุ่งมั่นได้แค่ที่เราสอน แต่มันแพร่ไปได้ดีที่สุดโดยความสัมพันธ์ ความมุ่งมั่นเป็นโรคติดต่อ คนติดเชื้อความมุ่งมั่นเมื่ออยู่กับคนที่มุ่งมั่น นี่คือเหตุผลที่เราเน้นการใช้กลุ่มย่อยในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาชีวิต ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่มุ่งมั่นมีอิทธิพลมากยิ่งกว่าการเพียงแค่ฟังคำเทศนาเรื่องความมุ่งมั่น

ทักษะ ทักษะคือความสามารถในการทำบางสิ่งได้คล่องแคล่วและถูกต้อง คุณพัฒนาทักษะโดยการกระทำและประสบการณ์ ไม่ใช่ฟังคำบรรยาย ในชีวิตคริสเตียนที่คุณต้องพัฒนาทักษะบางอย่างเพื่อจะเป็นผู้ใหญ่ เช่น การศึกษาพระคัมภีร์ การรับใช้ การเป็นพยาน ความสัมพันธ์ การจัดแบ่งเวลา และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทักษะเป็นเรื่องของ "ขั้นตอนวิธีทำ" ในการเติบโตฝ่ายวิญญาณ ความรู้และมุมมองเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความรู้ ความมุ่งมั่นและลักษณะนิสัยเกี่ยวข้องกับ ตัวตนทักษะเกี่ยวข้องกับ การกระทำ เราต้องเป็น "คนที่ประพฤติตามพระวจนะนั้น ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ฟัง" (ยากอบ 1:22) การกระทำของเราจะพิสูจน์ว่าเราเป็นครอบครัวของพระเจ้าพระเยซูตรัสว่า "มารดาของเรา และพี่น้องของเรา คือคนเหล่านั้นที่ได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าและกระทำตาม" (ลก. 8:21)

ผู้เชื่อหลายคนตกอยู่ในความคับข้องใจ เพราะเขารู้ว่าควรทำ อะไร แต่ไม่เคยมีใครสอนว่าจะทำ อย่างไร เขาฟังเทศนามากมายเกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ แต่ไม่มีใครแสดงให้เขาเห็นวิธีศึกษาพระวจนะ มีคนทำให้เขารู้สึกผิดเพราะชีวิตการอธิษฐานอย่างไร และจะสรรเสริญพระลักษณะของพระเจ้าโดยใช้พระนามต่าง ๆ ของพระองค์อย่างไร หรือจะวิงวอนเพื่อผู้อื่นอย่างไร การกระตุ้นโดยไม่มีการอธิบายจะนำไปสู่ความคับข้องใจ เมื่อใดก็ตามที่เรากระตุ้นให้คนทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราย่อมมีความรับผิดชอบที่ต้องอธิบายวิธีทำให้ชัดเจนด้วย

ถ้าคุณต้องการให้คริสตจักรคุณผลิตคริสเตียนที่มีประสิทธิภาพ คุณต้องสอนทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิตคริสเตียนและการรับใช้ ทักษะ คือ เคล็ดลับของประสิทธิภาพ จำข้อพระคัมภีร์ที่ผมแบ่งปันในบทที่ 2 ได้ไหมครับ "ถ้าขวานทื่อแล้วและเขาไม่ลับให้คม เขาก็ต้องออกแรงมาก แต่สติปัญญาจะช่วยให้บรรลุความสำเร็จ" (หรือทักษะจะช่วยให้บรรลุความสำเร็จ - จากคำแปลภาษาอังกฤษฉบับ NIV)

รายการพัฒนาทักษะของแซคเดิลแบ็คมีชื่อว่า "สัมมนาทักษะชีวิต" สัมมนาเหล่านี้มักยาวสี่ถึงแปดชั่วโมง และมักจะสอนจบในวันเดียว เราค้นพบว่าความสามารถหาเวลาว่างยาว ๆ ในหนึ่งวัน ง่ายกว่าการมาเรียนครั้งละชั่วโมงติดต่อกันหกสัปดาห์อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราก็ขยายเป็นหลายสัปดาห์ เพราะมีเนื่อหามากเกินกว่าจะสอนหมดในวันเดียว

สัมมนาพัฒนาชีวิตทักษะชีวิตแต่ละครั้ง จะเน้นที่ทักษะเพียงอย่างเดียว เช่น วิธีศึกษาพระคัมภีร์ วิธีอธิษฐานอย่างเกิดผล วิธีจัดการกับการทดลอง วิธีจัดเวลาเพื่องานรับใช้ และวิธีอยู่ปรองดองกับผู้อื่น เราจำแนกทักษะที่จำเป็น 9 อย่างซึ่งเราเชื่อว่าจำเป็นสำหรับคริสเตียนทุกคน แต่เราก็มีสัมมนาสำหรับทักษะอื่น ๆ ด้วยเมื่อเรารู้ว่ามีความต้องการบางอย่างในคริสตจักร

ลักษณะนิสัย ลักษณะนิสัยที่เหมือนพระคริสต์ คือ เป้าหมายสูงสุดของคริสเตียนศึกษา หากเราตั้งเป้าต่ำกว่านี้ ก็เท่ากับเราพลาดจุดประสงค์ของการเติบโตฝ่ายวิญญาณ เราต้อง "โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงความไพบูรณ์ของพระคริสต์" (เอเฟซัส 4:13)

การพัฒนาลักษณะที่เหมือนพระคริสต์ คือ ภารกิจที่สำคัญที่สุด เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่จะติดตัวเราไปสู่นิรันดร์กาล พระเยซูตรัสชัดเจนในคำเทศนาบนภูเขาว่า บำเหน็จนิรันดร์นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยที่เราสร้างและสำแดงออกในโลกนี้

นี่หมายความว่าวัตถุประสงค์ของการสอนของเราทั้งหมดต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ใช่แค่การให้ข้อมูล เปาโลบอกทิโมธีว่าจุดมุ่งหมายในคำสอนของท่านคือ พัฒนาลักษณะนิสัย "แต่จุดประสงค์แห่งคำกำชับนั้นก็คือให้มีความรักซึ่งเกิดจากใจอันบริสุทธิ์ และจากจิตสำนึกว่าตนชอบ และจากความเชื่ออันจริงใจ" (1 ทิโมธี 1:5)

ลักษณะนิสัยไม่มีทางสร้างกันได้ในห้องเรียน แต่มันสร้างขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ของชีวิต การศึกษาพระคัมภีร์ในห้องเรียนทำหน้าที่เพียง จำแนก ลักษณะนิสัยต่าง ๆ และเรียนรู้วิธีพัฒนาลักษณะนิสัย เราก็จะตอบสนองอย่างถูกต้องเมื่อพระเจ้าให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ช่วยสร้างลักษณะนิสัย การพัฒนาลักษณะนิสัยมักจะเกี่ยวข้องกับการเลือก เมื่อเราตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้อง ลักษณะนิสัยของเราก็เหมือนพระคริสต์มากขึ้น

เมื่อใดก็ตามที่เราเลือกตอบสนองต่อสถานการณ์ตามวิธีของพระเจ้า แทนที่จะตามแนวโน้มตามธรรมชาติของเรา เราก็กำลังพัฒนาลักษณะนิสัย ผมเขีิยนหนังสือชื่อ The Power to Change Your Life (พลังเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณ) ซึ่งอธิบายเรื่องนี้มากกว่านี้

ถ้าคุณต้องการรู้ว่าลักษณะนิสัยที่เหมือนพระคริสต์เป็นอย่างไร ข้อพระคัมภีร์ที่เหมาะที่สุดสำหรับการเริ่มต้นคือ คุณสมบัติ 9 ประการในกาลาเทีย 5:22-23 "ฝ่ายผลของวิญญาณนั้นคือ ความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปราณี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน" และผลของพระวิญญาณคือ ภาพที่สมบูรณ์ของพระคริสต์ พระองค์มีคุณสมบัติทั้ง 9 ประการ ถ้าคุณจะพัฒนาลักษณะที่เหมือนพระคริสต์ คุณก็ต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ในชีวิตด้วย

แล้วพระเจ้าสร้างผลของพระวิญญาณในชีวิตเราอย่างไร ก็โดยให้เราเผชิญสถานการณ์ที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพื่อเราจะเลือก พระเจ้าสอนเราให้มีความรักอย่างแท้จริง โดยการให้เราอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่น่ารัก (ถ้าอยู่ท่ามกลางคนที่มีความรักก็ไม่ต้องใช้ลักษณะนิสัยอะไร) พระองค์สอนให้เราชื่นชมยินดีในช่วงเวลาทุกข์โศก (ความชื่นชมยินดีเป็นเรื่องภายใน ความสุขก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ แต่ความชื่นชมยินดีเป็นอิสระจากเหตุการณ์) พระองค์สร้างสันติสุขในเรา โดยให้เราอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายเพื่อเราจะเรียนรู้จักวางใจในพระองค์ (ถ้าทุกอย่างเป็นอย่างที่คุณต้องการก็ไม่ต้องการก็ไม่ต้องใช้ลักษณะนิสัยอะไรเพื่อจะมีสันติสุข)

พระเจ้าใส่ใจกับลักษณะนิสัยของเรามากกว่าความสะดวกสบายของเรา และพระองค์มีแผนการเพื่อทำให้เราสมบูรณ์ ไม่ใช่ทะนุถนอมตามใจเรา โดยเหตุนี้พระองค์จึงอนุญาตให้เกิดสถานการณ์มากมายที่สร้างลักษณะนิสัยของเรา ความเข้มแย้ง ความผิดหวัง ความยากลำบาก การทดลอง เวลาที่รู้สึกแห้งแล้ง ความล่าช้า และความรับผิดชอบหลักของหลักสูตรคริสเตียนศึกษา คือ การเตรียมคนของคุณให้มีความรู้ ให้มีมุมมอง ความมุ่งมั่น และทักษะ ที่จำเป็นในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น ถ้าคุณทำเช่นนั้น สมาชิกก็จะพัฒนาลักษณะนิสัย

ศตวรรษที่แล้ว ซามูเอล สไมล์ส เขียนข้อสังเกตนี้ว่า

จงหว่านความคิด และคุณจะเก็บเกี่ยวการกระทำ
จงหว่านการกระทำ และคุณจะเก็บเกี่ยวอุปนิสัย
จงหว่านอุปนิสัย และคุณจะเก็บเกี่ยวลักษณะนิสัย
จงหว่านลักษณะนิสัย และคุณจะเก็บเกี่ยวจุดหมายปลายทาง

ความรู้ มุมมอง ความมุ่งมั่น ทักษะ และลักษณะนิสัย คือ ลำดับที่เป็นเหตุเป็นผล คุณต้องเริ่มจากฐานแห่งความรู้ เนื่องจากการเติบโตฝ่ายวิญญาณมีรากฐานบนพระวจนะของพระเจ้า การเรียนรู้ระดับแรกจึงเป็นการเพิ่มความรู้ที่เป็นประโยชน์จากพระคัมภีร์ มุมมองและความมุ่งมั่นต้องมีพื้นฐานจากพระคัมภีร์

บนความรู้พระวจนะ คุณเติมมุมมองลงไป ยิ่งคุณรู้พระวจนะดีเท่าใด คุณก็ยิ่งมองชีวิตจากมุมมองของพระเจ้ามากเท่านั้น ความมุ่งมั่นจะเติบโตโดยอัตโนมัติจากมุมมอง เมื่อคุณเริ่มเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของพระเจ้า คุณจะเริ่มพัฒนาความมุ่นมั่นตามพระคัมภีร์ การเข้าใจประสงค์และแผนการของพระเจ้าจะเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจของคุณ

ความมุ่งมั่นทำให้คุณมีแรงจูงใจที่จะยืนหยัดรักษาอุปนิสัยฝ่ายวิญญาณ ในที่สุดเมื่อทำซ้ำแล้วซ้ำอีก นิสัยเหล่านี้ก็กลายเป็นทักษะ คุณจะทำสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องเพ่งความตั้งใจเหมือนตอนเริ่มแรกอีกต่อไป

เมื่อคุณรวมความมรู้พระวจนะ มุมมอง ความมุ่งมั่น และทักษะที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ผมรวมก็คือลักษณะนิสัย ประการแรกคุณ รู้ แล้วคุณก็ เข้าใจ แล้วคุณก็ เชื่อด้วยสุดใจ แล้วคุณก็ ทำ ผลของสี่สิ่งนี้คือ ลักษณะนิสัย

ต่อไปนี้เป็นห้าคำถามที่คุณต้องถามหลักสูตรคริสเตียนศึกษาของคุณ
๐ สมาชิกกำลังเรียนรู้เนื้อหาและความหมายของพระคัมภีร์หรือไม่
๐ สมาชิกกำลังมองตนเอง ชีวิต และคนอื่นชัดเจนขึ้นจากมุมมองของพระเจ้าหรือไม่
๐ ค่านิยมของสมาชิกสอดคล้องกับค่านิยมของพระเจ้ามากขึ้นหรือไม่
๐ สมาชิกชำนาญทักษะในการรับใช้พระเจ้ามากขึ้นหรือไม่
๐ สมาชิกเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นหรือไม่

ที่คริสตจักรแซดเดิลแบ็ค สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์ที่เรามุ่งไปอย่างต่อเนื่องดังที่เปาโลกล่าวในโคโลสี 1:28 ว่า "พระองค์นั้นแหละเราประกาศอยู่ โดยเตือนสติทุกคนและสั่งสอนทุกคนให้มีสติปัญญาทุกอย่าง เพื่อจะได้ถวายทุกคนให้เป็นผู้ใหญ่แล้วในพระคริสต์"

นิมิตของเราสำหรับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ คือ ถวายเกียรติแด่พระเจ้าโดยการสำแดงพระคริสต์ผ่านทางสาวกที่เป็นเหมือนพระองค์จำนวนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น